สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย  เปิด 4สาเหตุการพังถล่มของโครงถักเหล็ก ที่ พระราม 2

29 พ.ย. 2567 | 16:24 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 16:31 น.

สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย  เปิด 4 สมมุติฐานสาเหตุการพังถล่มของโครงถักเหล็ก ที่ พระราม 2 มีคนบาทเจ็บและเสียชีวิต

 

จากเหตุการณ์การพังถล่มของโครงถักเหล็ก (Steel launching Truss) ก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ช่วงเช้าวันที่ 29 พ.ย.2567 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้อธิบายว่า โครงสร้างเหล็กที่พังถล่มลงไปนั้น เป็นโครงถักเหล็กเลื่อน (Steel launching truss) ใช้สำหรับยกชิ้นส่วนสะพานหรือเซ็กเมนต์ ให้วางตัวในแนวเดียวกัน จากนั้นจึงยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันโดยการดึงลวดอัดแรง

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ

 

โครงถักเหล็กที่ใช้มีลักษณะเป็นรูป 3 เหลี่ยม ใช้คู่กัน 2 ตัวเพื่อยกชิ้นส่วนสะพาน การพังถล่มคาดว่าเกิดขึ้นในขณะที่ทำการติดตั้ง segment ไม่ใช่เป็นขั้นตอนการเลื่อนโครงถักไปข้างหน้า ส่วนสาเหตุที่เกิดการพังถล่ม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุที่สาเหตุชัดเจนได้ เพียงแต่มีการตั้งข้อสังเกตหรือข้อสมมุติฐานที่อาจจะเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากรูปถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และคำบอกเล่าจากผู้เห็นเหตุการณ์ ดังนี้

1.            ตำแหน่งที่เกิดการวิบัติของโครงถักเหล็กเกิดขึ้นที่ใกล้เสา ซึ่งเป็นจุดที่มีค่าแรงเฉือนสูง และขณะที่เกิดการพังถล่มมีข้อมูลว่า ได้ทำการการยกชิ้นส่วนครบทั้งช่วงเสาและจัดแนวแล้ว แสดงให้เห็นว่าโครงถักเหล็กอยู่ในสภาวะที่รับน้ำหนักเต็มที่ ค่าแรงเฉือนที่เกิดขึ้นจึงมีค่าที่สูงจนอาจทำให้ชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งของโครงถักเกิดดุ้ง หักหรือขาด แล้วทำให้โครงถักเหล็กสูญเสียกำลังจนพังลงมา

โครงสร้างถล่ม

2.            ท่อนเหล็ก PT bar ที่ใช้หิ้ว segment อาจเกิดการขาดหรือหลุด ทำให้น้ำหนักเสียสมดุล และทำให้เกิดการถ่ายแรงจากโครงถักหนึ่งไปยังอีกโครงถักหนึ่ง ทำให้โครงถักต้องรับน้ำหนักมากขึ้น จนเกิดการบิดตัวและพังถล่มตามมา

3.            โครงเหล็กวินช์ ที่ใช้ยก segment ที่ตั้งอยู่บนโครงถักเหล็ก และสามารถเลื่อนไปมาได้มีน้ำหนักมากหลายสิบตัน อาจหลุดออกจากรางในระหว่างที่ติดตั้งชิ้นส่วนและทำให้เกิดแรงกระแทกต่อโครงถักเหล็กจนพังถล่มลงมา

4.            จุดยึดหรือรอยต่อระหว่างโครงถักเหล็กโดยใช้สลักเกลียวหรือท่อนเหล็ก PT bar มีการใช้วัสดุที่ได้คุณภาพ มีกำลังรับน้ำหนักที่เพียงพอหรือไม่ และปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่กำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนฐานรองรับของโครงเหล็กมีการยึดเข้ากับเสาอย่างแข็งแรงหรือไม่ เพียงใด

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมานี้ยังเป็นเพียงข้อสังเกตขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่สรุปว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆเพิ่มเติมอีก และการที่จะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้นั้น จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น แบบ รายการคำนวณ ข้อกำหนดวิธีการทำงาน และคุณภาพวัสดุ

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การวิบัติของโครงถักเหล็กเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ และที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันหลายครั้งแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยในอนาคต