อัปเดตเส้นทางพายุ 3 ลูกล่าสุด 10 พ.ย.67 กระทบสภาพอากาศไทยหรือไม่

10 พ.ย. 2567 | 11:24 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2567 | 11:46 น.
5.1 k

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตพายุ 3 ลูกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ พายุไต้ฝุ่นหลินซิ่ง พายุโซนร้อนโทราจี พายุโซนร้อนหม่านหยี่ เช็คเลยมีผลกับสภาพอากาศประเทศไทยหรือไม่

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์ของพายุหมุนเขตร้อนบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ โดยในขณะนี้มีพายุที่ก่อตัวและตั้งชื่อทั้งหมด 3 ลูก คือ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีพายุไต้ฝุ่นหยินซิ่ง "YINXING" ที่กำลังเปลี่ยนทิศทางและจะอ่อนกำลังลงตามลำดับเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม อาจทำให้มีเมฆเพิ่มขึ้นด้านตะวันออกขอภาคอีสาน 

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตพายุ 3 ลูกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้

 

นอกจากนั้นแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกมีพายุโซนร้อนโทราจี "TORAJI" (ลูกที่ 23) และ พายุโซนร้อนหม่านหยี่ "MAN-YI"(ลูกที่ 24) โดยปกติความถี่ของการก่อตัวของพายุเดือนพฤศจิกายน จะมีไม่มากนัก แนวโน้มของพายุทั้ง 3 ลูก ยังไม่มีผลกระทบกับสภาพอากาศของประเทศไทย เนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมเป็นระลอก ๆ แต่ยังต้องเฝ้าติดตามเป็นระยะๆ

อัปเดตเส้นทางพายุ


 

อนึ่งเมื่อเวลา 11.00 น.กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 10 เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง”โดยระบุว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (10 พ.ย. 2567) พายุไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 220 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.0 องศาตะวันออกมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 148 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 11-12 พ.ย. 2567 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน พายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ 

พายุไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน

โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
 

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 10-11 พ.ย. 2567 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

 

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

 

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.

พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก