ตร.เปิดสายด่วนเเจ้งเบาะเเส ดิไอคอนกรุ๊ป พร้อมข้อสังเกตแชร์ลูกโซ่-ขายตรง

10 ต.ค. 2567 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2567 | 23:27 น.

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดสายด่วนรับแจ้งเหตุคดี "ดิไอคอนกรุ๊ป" The Icon Group พร้อมแนะข้อสังเกต "แชร์ลูกโซ่"ที่มาในรูปแบบของ"ธุรกิจขายตรง"

จากกรณีโซเซียลแห่แชร์และติดแฮชแท็ก #ดิไอคอน #The Icon Group #บอสพอล หรือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้ง “ดิไอคอนกรุ๊ป” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม โดยมีดารา นักแสดง พิธีกรชื่อดังหลายคนมาเป็นพรีเซนเตอร์และเป็นทีมผู้บริหาร  ซึ่งในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีผู้เสียหายออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับการหลอกลวงให้ลงทุน การซื้อสินค้ามาแล้วไม่สามารถขายได้ รวมไปถึงร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจการขายออนไลน์ที่คล้ายแชร์ลูกโซ่  

 

ล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดสายด่วน 1559 เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางให้ผู้เสียหายจากกรณีธุรกิจขายตรง The Icon Group หรือบริษัทฯอื่นๆ รวมไปถึงกรณีหลอกขายทองไม่ตรงปก แม่ตั๊ก&ป๋าเบียร์ /แม่ใบหนาด สามารถแจ้งเหตุ หรือ เบาะแสให้กับตำรวจ เพื่อที่จะมีการส่งให้ชุดสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดี

 

ขณะเดียวกันหากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ และหากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ สายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้นแล้วทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้จัดทำข้อสังเกต 6 ข้อ เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ที่มาในรูปแบบของธุรกิจขายตรง ทั้งนี้เพื่อเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจลักษณะขายตรง ที่อาจเข้าข่ายเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ หรือหลอกลวงประชาชน โดยข้อสังเกตทั้ง 6 ข้อมีดังนี้

1. โมเดลแชร์ลูกโซ่ 

  • หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริง โมเดลนี้ทำให้รายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัคร แทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า

2. การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง 

  • หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ

3. การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก 

  • หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น หรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง

4. การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง

  •  หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริง โฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา

5. การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

  • ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

6. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค 

  • หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

ข้อสังเกต 6 ข้อ เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ที่มาในรูปแบบของธุรกิจขายตรง

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือการจัดสัมมนาในความรู้ บางครั้งก็จะมาในรูปแบบของการลงทุนในธุรกิจ บางครั้งก็มาในรูปแบบของการขายตรง หลอกลวงว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง และมักจะมีรายได้จากการชักชวนสมาชิกใหม่มาร่วมธุรกิจ เช่น คดียูฟัน (Ufund) คดีแม่ชม้อย คดี FOREX-3D เป็นต้น

 

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจลักษณะขายตรง ที่อาจเข้าข่ายเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ หรือหลอกลวงประชาชน "