วิกฤต “เด็กไทย” ล้านคน หลุดนอกระบบการศึกษา เสี่ยงไม่พ้นวงจรอันตราย

03 มิ.ย. 2567 | 07:00 น.
1.5 k

ผ่าวิกฤต “เด็กไทย” หลุดนอกระบบการศึกษา กว่า 1.02 ล้านคน ในปี 2566 โดยไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น น่าห่วงเด็กและเยาวชนนอกระบบมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรอันตราย

ปัญหา “เด็กไทย” หลุดนอกระบบการศึกษา นับเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วนจากทุก ๆ หน่วยงานและทุกคนในสังคมที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้นักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดทำฐานข้อมูลของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยหลังจากที่นำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในช่วงอายุ 3-18 ปี จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (เทียบเท่าระดับชั้นอนุบาล 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6) ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 2,200,105 คน ไปวิเคราะห์กับข้อมูลรายบุคคล 

โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวบรวมจากหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทุกสังกัด รวม 21 สังกัด ทั่วประเทศไทยจำนวน 11,174,591 คน พบว่ามีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน หรือ 8.41% ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด (12,200,105 คน) 

ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -มัธยมศึกษา ปีที่ 3 หรือช่วงอายุ 6 – 14 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน คิดเป็น 38.42% ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา

 

ภาพประกอบข่าว ปัญหา “เด็กไทย” หลุดนอกระบบการศึกษา

เด็กส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวแรงงาน

หากจำแนกตามสภาพกลุ่มปัญหา จากตัวเลข 1,025,514 คน พบว่า มีเด็กและเยาวชนเลข 0 หรือ ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 94,244 คน ส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนที่มีการอพยพแรงงาน เช่น แคมป์ก่อสร้างและ ไร่สวนเกษตรกรรม หรือเกิด จากการตกสำรวจของรัฐเนื่องจากอาศัยในพื้นที่ห่างไกล แต่อยู่ในพรมแดนของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนพิการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และยูนิเซฟประเทศไทย ปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน 57.4%

แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่

กสศ. รายงานข้อมูลด้วยว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดของประเทศไทย ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ 

ทั้งนี้ครอบครัวจำนวนหลายแสนครัวเรือนทั่วประเทศไทยยังคงมีโอกาสสูงที่จะยังติดอยู่ในกับดักความยากจน เนื่องจากลูกหลานของครอบครัวเหล่านี้ยังคงไม่สามารถสำเร็จการศึกษาที่สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ต่อไปอีก 1 ชั่วคน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยยังคงติดในกับดักประเทศรายได้ปานกลางต่อไปอีกหลายสิบปี และด้วยสถานการณ์ความท้าทายที่ประเทศไทยก้าวเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และอัตราการเกิดใหม่ลดลงต่ำกว่าปีละ 500,000 คนแล้ว

ถ้าประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจนทำให้จำนวนเด็กและเยาวชน นอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ได้ (Zero Dropout) จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 1.7% ของ GDP เนื่องมาจากรายได้ตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นของเด็ก และเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้น และยังสามารถป้องกันปัญหาสังคมอื่นๆ อันเป็นผลพวงมาจากความยากจนได้

สาเหตุออกนอกระบบการศึกษา

ทั้งนี้ กสศ. ระบุว่า เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและนำไปสู่การพัฒนานโยบาย/มาตรการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กสศ.ได้พัฒนางานวิจัยเชิงสำรวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอก ระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและ เด็กนอกระบบการศึกษา" 

ประกอบด้วยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากองค์กรเครือข่าย 67 องค์กร จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีจำนวน เด็กนอกระบบการศึกษาที่ให้ข้อมูลความต้องการ 35,003 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 21,220 คน เพศหญิง 13,498 คน ไม่ระบุ 285 คน

การวิเคราะห์จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาจำแนกตามสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษา พบสาเหตุดังนี้ 

  • ความยากจน 46.70% 
  • มีปัญหาครอบครัว 16.14% 
  • ออกกลางคัน/ ถูกผลักออก 12.03%
  • ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา 8.88%
  • ปัญหาสุขภาพ 5.91% 
  • อยู่ในกระบวนการยุติธรรม 4.93%
  • ได้รับความรุนแรง 3.63%

 

ภาพประกอบข่าว วิกฤตปัญหา “เด็กไทย” หลุดนอกระบบการศึกษา

 

เด็กล้านคนเสี่ยงเข้าสู่วงจรอันตราย

เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนนอกระบบนั้น เต็มไปด้วยความเสี่ยง มีแนวโน้มว่าในจำนวนเด็กและเยาวชน 1.02 ล้านคน จำนวนมากกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรอันตราย 3 เรื่อง คือ 

  1. แรงงานรายได้ต่ำ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ 
  2. ค้าประเวณีโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง 
  3. ยุวอาชญากรที่ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด และลักขโมย

อย่างไรก็ตามในแนวทางการแก้ปัญหานั้น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ โดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้

  • มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
  • มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม
  • มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง
  • มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา