พม. รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2567 ภายใต้แนวคิด Stop Cyber – Trafficking

31 พ.ค. 2567 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 07:17 น.

กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เชิญร่วมงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 วันที่ 5 มิ.ย. 2567ภายใต้แนวคิด Together We Can “Stop Cyber – Trafficking”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำหนดจัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 ในวันพุธที่  5 มิ.ย. 2567 เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ ห้องฟีนิกซ์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนนทบุรี และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live กองต่อต้านการค้ามนุษย์ สป.พม.

เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยใน การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย หรือ Zero Tolerance

พม. รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2567 ภายใต้แนวคิด Stop Cyber – Trafficking

รณรงค์เผยแพร่การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้แก่ประชาชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน

เพื่อผนึกกำลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากล ภายใต้แนวคิด Together We Can “Stop Cyber - Trafficking”

เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าการค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์เป็นภัยใกล้ตัว ทุกคนมีโอกาสถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงผ่านออนไลน์ และอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทุกภาคส่วนจึงต้องผนึกกำลังต่อต้านการค้ามนุษย์  ให้หมดสิ้นไป 

 

กิจกรรมสำคัญภายในงาน ประกอบด้วย การมอบรางวัลให้แก่บุคคลต้นแบบ บุคคลดีเด่น หน่วยงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ประจำปี 2567 เพื่อชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคล หน่วยงาน และจังหวัดที่ดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

โดยผู้เข้ารับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 29 รางวัล แบ่งเป็น

  1. บุคคลต้นแบบ จำนวน 3 รางวัล 
  2. บุคคลดีเด่น จำนวน 15 รางวัล 
  3. หน่วยงานดีเด่น จำนวน 6 รางวัล
  4. จังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ  จำนวน 5 รางวัล 

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการผลงานของผู้รับรางวัลและจังหวัดต้นแบบ ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย บูธนิทรรศการของหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

รวมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากฝีมือของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อสังคมไทยและเวทีระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมงานรวมจำนวนทั้งสิ้น 800 คน แบ่งเป็น ณ สถานที่จัดงาน (Onsite) จำนวน 400 คน และผ่านทางระบบออนไลน์ (Online) จำนวน 400 คน

ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ประจำประเทศไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 76 จังหวัด

อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ผู้แทนองค์กรคนไร้บ้าน กลุ่มเครือข่ายบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบ บุคคลดีเด่น หน่วยงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) และสื่อมวลชน