กทม.แจงงบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ "กรุงเทพ Bangkok"

29 พ.ค. 2567 | 20:05 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 22:38 น.
2.1 k

โฆษก กทม. เผยงบ 3 ล้านบาท ไม่เกี่ยวกับป้ายใหม่ สติกเกอร์บนคานรางรถไฟฟ้า "กรุงเทพ Bangkok" พร้อมแจงยิบข้อเท็จจริง

จากกรณีที่มีข้อสงสัยว่า กทม.ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อการออกแบบและติดสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้า หรือ ป้ายใหม่ "กรุงเทพ Bangkok" ล่าสุด นายเอกวรัญญู  อัมระปาล  โฆษกของกรุงเทพมหานคร  ได้ออกมาชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  ซึ่งข้อเท็จจริง คือ กทม.ใช้งบประมาณจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2566  ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2,952,600 บาท

สติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ "กรุงเทพ Bangkok"

 

ทั้งนี้ กทม.ได้หาตัวผู้รับจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) โดยใช้เกณฑ์คุณภาพ (70%) ประกอบเกณฑ์ราคา (30%) ดูบริษัทที่มีจุดเด่นและประสบการณ์ด้านการออกแบบ เป็นที่ยอมรับ ซึ่งระหว่างดำเนินการได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบและภาพลักษณ์องค์กรตลอดทั้งกระบวนการ เพื่อให้กำหนดการใช้อัตลักษณ์ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) สำหรับจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์เหมาะสม มีมาตรฐาน และมีความเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร สร้างการรับรู้และจดจำอัตลักษณ์ของหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร
 

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย 

 

  1. ระบบตราสัญลักษณ์ ได้แก่  ตราสัญลักษณ์มาตรฐาน  ตราสัญลักษณ์แบบอักษร  ตราสัญลักษณ์หน่วยงานในสังกัด กทม.  ข้อกำหนดการนำไปใช้
  2.  ระบบสี ได้แก่ ระบบสีหลัก   ระบบสีรอง  ระบบสีสัญลักษณ์ และข้อกำหนดการนำไปใช้ 
  3. ระบบตัวอักษร ได้แก่ ชุดตัวอักษรหลักภาษาไทย – อังกฤษ (เสาชิงช้า) ชุดตัวอักษรรองภาษาไทย – อังกฤษ (อนุพันธ์ และไทยสารบัญ) และข้อกำหนดการนำไปใช้ 
  4. ลวดลายกราฟิกอัตลักษณ์ จำนวน 2 ชุด 
  5. หลักเกณฑ์การใช้ภาพถ่ายประกอบกับตราสัญลักษณ์ 
  6. ชุดภาพและระบบสีของชุดภาพสัญลักษณ์  
  7. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์บนสื่อต่าง ๆ สำหรับการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ สื่อออนไลน์ทั่วไป ข่าวทั่วไป  เทศกาลต่าง ๆ การให้ข้อมูลในรูปแบบอินโฟกราฟิก   การอ้างอิงคำพูด  การประกาศ  รูปแบบ VDO  
  8. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์สำหรับงานต่าง ๆ ได้แก่ งานนำเสนอ (Powerpoint Template)  การพิมพ์โปสเตอร์   การพิมพ์ฉากหลัง   การพิมพ์แผ่นพับ   การพิมพ์ประกาศนียบัตร  จอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง   ใต้รางรถไฟฟ้า   สื่อ VDO   การขึ้นชื่อและตำแหน่งบนวิดีโอ  เว็บไซต์   
  9. การนำอัตลักษณ์ไปใช้กับวัสดุ อุปกรณ์ และป้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการ (ตัวอย่างการออกแบบ) เช่น  สมุดโทรศัพท์  ถุงกระดาษ กล่องพัสดุ  จานอาหาร  จานรองแก้ว แก้ว  แก้วเซรามิค สมุดปากกา  ดินสอ  ป้ายชื่อประจำโต๊ะ  นามบัตร บัตรแสดงตน สายคล้องบัตรแสดงตน  บัตรผู้มาติดต่อ เสื้อโปโล  เสื้อยืด เสื้อแจ็คเก็ต  เน็กไท  หมวกแก๊ป  รถยนต์  รถกระบะ   รถตู้  รถบัส  รถบรรทุก  รถขยะ  รถจักรยานยนต์ ถังขยะ  ป้ายหน้าหน่วยงาน/ส่วนราชการ  เคาน์เตอร์บริการประชาชน และข้อกำหนดการนำไปใช้  
  10. ตราสัญลักษณ์ประเภทเคลื่อนไหวสำหรับงานวิดีโอ ความยาว 2 วินาที 5 วินาที 10 วินาที 15 วินาที  
  11. คู่มืออัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร 

 

กทม.แจงงบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ \"กรุงเทพ Bangkok\" กทม.แจงงบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ \"กรุงเทพ Bangkok\" กทม.แจงงบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ \"กรุงเทพ Bangkok\" กทม.แจงงบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ \"กรุงเทพ Bangkok\" การกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร

 

 

นายเอกวรัญญู  กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ที่มาของฟอนต์ที่ใช้ในสติกเกอร์ข้อความใหม่ที่ปิดบนแนวคานของรางรถไฟฟ้า กลางแยกปทุมวัน “กรุงเทพฯ – Bangkok” ว่าเป็นฟอนต์ใหม่ที่ กทม.จัดทำขึ้นภายใต้ CI (Corporate  Identity) ของกรุงเทพมหานคร ที่ชื่อว่าฟอนต์ “เสาชิงช้า” มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครซึ่งมีมาดั้งเดิม คือภาพสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่อาศัยภาพวาดของกรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ

  นายเอกวรัญญู  อัมระปาล  โฆษกของกรุงเทพมหานคร

 

กทม.ได้มีการออกแบบและเริ่มนำฟอนต์เสาชิงช้ามาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2566  โดยทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ทั้ง 23 สำนัก และ 50 สำนักงานเขต ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นอัตลักษณ์ รวมถึงการใช้สีหลักคือสีเขียวมรกตที่นำมาใช้บ่อยที่สุด และสีรองอีกหลากหลายสีที่ใช้ในการออกแบบตกแต่ง การวางโลโก้  กราฟิก การออกแบบภาพ ฯลฯ ซึ่งได้กำหนดไว้ในคู่มือการใช้อัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชิ้นงาน

 

"ประชาชนจะได้เห็นตัวอักษรเสาชิงช้าบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น ป้าย  สื่อวิดีทัศน์ สิ่งพิมพ์  สื่อออนไลน์  รวมทั้งของที่ระลึกต่าง ๆ ด้วย โดยผู้สนใจจะนำฟอนต์เสาชิงช้าไปใช้ในการออกแบบข้อความต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ (คลิกที่นี่) เมื่อเข้าไปที่ลิงค์แล้วให้เลือกที่ “ดาวน์โหลด และเลือกที่ “ฟอนต์ Sao Chingcha”

กทม.แจงงบ 3 ล้าน ไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ป้ายใหม่ \"กรุงเทพ Bangkok\"

กทม.แจก“ฟอนต์ Sao Chingcha”