เปิดภารกิจนายกฯ-รมว.ต่างประเทศ เยือนฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น 15-24 พ.ค.67

15 พ.ค. 2567 | 11:56 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 12:04 น.
720

นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปฝรั่งเศสและเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2567 และจะเข้าร่วมประชุม Nikkei Forum ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคมนี้ เพื่อสานสัมพันธ์และดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือน ฝรั่งเศส คืนนี้ (15 พ.ค.) เวลา 23.30 น. ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังกรุงปารีส (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชม.) เดินทางถึงกรุงปารีส วันที่ 16 พ.ค. เวลา 07.10 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชม.) ก่อนจะเดินทางต่อไปเยือน อิตาลี อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17 - 21 พฤษภาคม โดยมี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย

จากนั้น นายกฯและคณะ จะเดินทางต่อไปยังกรุงโตเกียว ประเทศ ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม เพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 โดยจะกล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ Asian Leadership in an Uncertain World และจะใช้โอกาสนี้หารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย

ภารกิจเยือนฝรั่งเศส 16 พ.ค. 2567

กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการจะกล่าวปาฐกถาและนำคณะนักธุรกิจไทยไปร่วมงาน Thailand-France Business Forum ซึ่งจัดขึ้นสืบเนื่องจากการหารือกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในช่วงการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพทำธุรกิจร่วมกัน

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามผลการเยือนครั้งนี้และต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ตลอดจนร่วมกันผลักดันประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตามที่ระบุไว้ในแผนการ (Roadmap) การดำเนินความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. 2022 - 2024

ภารกิจเยือนอิตาลี 17 - 21 พ.ค.2567

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางต่อไปเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ โดยมีกำหนดพบหารือกับนางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี เพื่อผลักดัน 8 วิสัยทัศน์ จุดประกายประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการบิน การขนส่ง การท่องเที่ยว และการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ตลอดจนความร่วมมือด้านแฟชั่นและซอฟต์พาวเวอร์ อาหารและเทคโนโลยีการเกษตร พลังงานสะอาด อวกาศ วิทยาศาสตร์การเเพทย์และเภสัชกรรม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และโครงการแลนด์บริดจ์ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีอิตาลีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีด้วย

ในส่วนของภารกิจที่อิตาลีนี้ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 จะครบรอบ 156 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อิตาลี ทั้งสองฝ่ายพร้อมขยายความร่วมมือในสาขาที่ไทยและอิตาลีมีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวเชิงกีฬา วิทยาศาสตร์การแพทย์และเภสัชกรรม และกลาโหม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะผลักดันประเด็นสำคัญ เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในเขตเชงเกน และการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป ให้สามารถสรุปภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) รวมถึงประเด็นการรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลไปทำงานในอิตาลีในอนาคต

นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของอิตาลี เพื่อขยายโอกาสด้านการค้า การลงทุน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน โดยจะพบหารือกับนาย Attilio Fontana ผู้ว่าการแคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งเป็นแคว้นที่สำคัญที่สุดด้านเศรษฐกิจของอิตาลี เนื่องจากเป็นแคว้นที่สร้างรายได้ร้อยละ 22 ของ GDP อิตาลี อีกทั้งเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปใต้ และเป็นศูนย์กลางด้านแฟชั่นและการออกแบบระดับโลก

ภารกิจเยือนญี่ปุ่น 22-24 พ.ค.2567

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ จะเดินทางต่อไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 เพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 โดยจะกล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ Asian Leadership in an Uncertain World พร้อมจะเสนอให้เอเชียมีความร่วมมือสำคัญ ได้แก่

  1. การเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนเพื่อเปิดโอกาสธุรกิจ
  2. เสริมสร้างความยั่งยืนโดยเน้นเศรษฐกิจและพลังงานสีเขียว
  3. การร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และ
  4. การปรับกระบวนทัศน์ของระบบพหุพาคีใหม่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของเอเชีย และก้าวข้ามสถานการณ์โลกที่ผันผวน ท้าทาย

 และยังจะใช้โอกาสนี้หารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย