เตือน 6 จังหวัดนอกคันกั้นน้ำ "น้ำทะเลหนุนสูง" 25 - 30 เม.ย.67

25 เม.ย. 2567 | 14:15 น.

สทนช. แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัดนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ" ช่วงวันที่ 25 - 30 เม.ย.67

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตือนประชาชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในพื้นที่ 6 จังหวัดเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ" ช่วงวันที่ 25 - 30 เม.ย.67

1.เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • สมุทรสงคราม
  • สมุทรสาคร
  • นครปฐม
  • นนทบุรี
  • กรุงเทพมหานคร
  • สมุทรปราการ 

2. เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และการเกษตร

  • แม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร  นนทบุรี และปทุมธานี 
  • แม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม 
  • แม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม 
  • แม่น้ำบางปะกง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

ทั้งนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดช่วงฤดูแล้งแล้วในสิ้นเดือนเมษายนนี้ โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 45,099 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 55% ของความจุน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วอยู่ 2% ซึ่งนับว่า อยู่ในเกณฑ์ดี แม้ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจากอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

ขณะที่แนวโน้มของปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำบางแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อย

  • อ่างฯ ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนจุฬาภรณ์
  • อ่างฯ ขนาดกลางอีก 85 แห่ง 
  • ยังคงต้องมีการสำรองปริมาณน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีโอกาสเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้ 

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ยังคงงดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่จะมีการประชาสัมพันธ์ช่วงเวลาส่งเสริมการเพาะปลูก 

สถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.บุรีรัมย์ (ประกาศภัยแล้งเพิ่มเติม ต.บ้านตะโก อ.ห้วยราช และ ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จำนวน 3 หมู่บ้าน) โดยในปีนี้ถือว่า ภัยแล้งไม่ได้ขยายวงกว้างนัก ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

สำหรับสถานการณ์ในภาคตะวันออก มีเกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้มีการหารือร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ให้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

สทนช. จะยังคงมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 มีแผนจะลงพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะประสบกับสภาวะลานีญาและมีความเป็นไปได้จากสถิติในเบื้องต้นว่า มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีพายุ 1-3 ลูกในปีนี้