วันที่ 25 เมษายนของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็น "วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)" โดยมุ่งหวังให้ประชาชนร่วมใจต่อสู้โรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นที่ตระหนักว่า ไข้มาลาเรีย มีผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน จนสามารถกล่าวได้ว่า โรคไข้มาลาเรียเป็น "ราชาแห่งโรคเมืองร้อน" และเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิธีการควบคุมและการรักษาโรคมาลาเรีย
ประวัติวันมาลาเรียโลก
ในปี 2512 สภาอนามัยโลกได้มีมติให้ยุติโครงการกำจัดโรคมาลาเรียทั่วโลกที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 เนื่องจากความล้มเหลวในการดำเนินงานตามกลยุทธ์การกำจัดโรคมาลาเรียทั่วโลก และส่งมอบโครงการนี้ไปให้องค์การสาธารณสุขดำเนินการต่อ แต่ภายหลังกลับไม่ประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญของโรคนี้ ในแอฟริกาก็เช่นกัน สถานการณ์โรคมาลาเรียกลับเลวร้ายลงอย่างถึงที่สุด
กระทั่ง ในปี 2535 ความสนใจในการควบคุมโรคมาลาเรียได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวางแผนต่อต้านโรคมาลาเรีย ร่วมกับผู้นำด้านสุขภาพระดับสูงจาก 65 ประเทศทั่วโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก เพื่อเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ทั้งปัญหาความยากจน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนในพื้นที่
ในปี 2541 องค์การอนามัยโลกได้ก่อตั้งกลุ่ม Roll Back Malaria Partnership เป็นกลุ่มระดับโลกในการต่อต้านโรคมาลาเรีย ระดมทุนและทรัพยากรต่างๆ จากพันธมิตรมากกว่า 500 รายทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีโรคมาลาเรียระบาด โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของโรคมาลาเรียจากเดิมลงครึ่งหนึ่งให้ได้ในปี 2553
ในปี 2547 โรคมาลาเรียยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา โรคมาลาเรียได้คร่าชีวิตผู้คนและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีไปมากกว่าล้านราย สร้างความเสียหายในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก
ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 (พ.ศ. 2550) องค์การอนามัยโลกได้ลงมติกำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันแอฟริกามาลาเรีย (Africa Malaria Day) เป็นวันมาลาเรียโลก
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โรคมาลาเรียปี 2567 มีรายงานผู้ป่วยสะสมจำนวน 2,900 รายซึ่งใกล้เคียงกับปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการลดลงจากจำนวนผู้ป่วยนับแสนรายในระยะเวลากว่า 40 ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีจังหวัดปลอดไข้มาลาเรียแล้วกว่า 50 จังหวัด
แหล่งระบาด
มาลาเรียเป็นโรคในเขตร้อน ซึ่งจะพบมากในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเซีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในบางประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาจะพบการติดเชื้อมาลาเรียมาก ในประเทศไทยแหล่งระบาดของมาลาเรียอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง
การติดต่อ
ติดต่อสู่คนโดยการถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียกัด โดยยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าร่างกายคน หลังจากนั้นเชื้อจะมีการแบ่งตัวมากขึ้นทำให้เกิดอาการของโรคมาลาเรียได้
อาการ
หลังจากได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ ลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่า ไข้จับสั่น คือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก
การรักษา
มาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และได้รับยาที่มีประสิทธิภาพตรงตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง เพราะอาจจะได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ผลทำให้มีการดื้อยา ทั้งนี้กินยาไม่ครบ อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เป็นโรครุนแรงขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกัน
เมื่อจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรีย ควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้เสื้อผ้าสีอ่อน, ทายากันยุง และนอนในมุ้ง
ทั้งนี้ ถ้ามีอาการไข้ โดยเฉพาะไข้สูงหนาวสั่นขณะอยู่ในป่าหรือเพิ่งเดินทางกลับจากป่า ควรจะไปรับการตรวจเลือดทันที และต้องบอกแพทย์ว่า มีประวัติเดินทางเข้าป่า การตรวจเชื้อมาลาเรียในเลือดเป็นการตรวจยืนยันที่ดีที่สุดว่า มีติดเชื้อมาลาเรียหรือไม่
ข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน