สงกรานต์ 2567 วันที่ 15 เมษายน “วันเถลิงศก” เปิดปฏิทินและความหมาย

15 เม.ย. 2567 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2567 | 08:44 น.
1.2 k

สงกรานต์ 2567 วันที่ 15 เมษายน คือวัน “เถลิงศก” เปิดปฏิทินและความหมาย เนื่องในวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย พร้อมตำนานสงกรานต์ คลิกอ่านรายละเอียดด่วน

วันที่ 15 เมษายน ยังเป็นเทศกาลสงกรานต์ 2567 วันที่ 15 เมษายนปีนี้เมื่อพลิกไปดูปฏิทิน ตรงกับวันจันทร์ ซึ่งวันนี้เรียกว่า “วันเถลิงศก”  หรือ “วันขึ้นศก” คือ วันที่เริ่มจุดเปลี่ยนศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีน ขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้ว อย่างน้อย 1 องศา

"วันเถลิงศก" ก็คือ วันที่เริ่มจุดเปลี่ยนศักราชใหม่  ดังนั้นแนวทางที่พึงปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ เพื่อสืบสานเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย คือ 

  •  การบำเพ็ญกุศล ด้วยการตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด รักษาศีล และสรงน้ำพระพุทธรูป ถือว่าเป็นการรักษากายใจ ให้สะอาดผ่องแผ้ว เพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งยังเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา 
  • การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว 
  •  การรดน้ำ เพื่อแสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย ผู้สูงอายุ พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น
  • การเล่นรดน้ำและสาดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติ พี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการเล่นอย่างสุภาพพร้อมกับกล่าวคำอวยพรให้มีความสุข คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น ไม่เล่นสาดน้ำรุนแรง หรือเล่นเกินขอบเขต ไม่ดื่มสุรา ตลอดจนแต่งกายให้เหมาะสม 

"วันเถลิงศก" 

ตำนานนางสงกรานต์

นางสงกรานต์  เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม  หรือท้าวมหาสงกรานต์  และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช  (สวรรค์ชั้นที่  1  ในทั้งหมด  6  ชั้น)  ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศรีษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง  โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์  คือวันที่  13  เมษายน  ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่  นางสงกรานต์มีทั้งหมด  7  องค์  ได้แก่

 1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี

 ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์  ทัดดอกทับทิม  มีปัทมราค  (แก้วทับทิม)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคืออุทุมพร  (มะเดื่อ)  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือจักร  พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์  เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

   2. นางสงกรานต์โคราดเทวี

 โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์  ทัดดอกปีป  มีมุกดาหาร  (ไข่มุก)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือเตละ  (น้ำมัน)  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า  เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์  (เสือ)

 3. นางสงกรานต์รากษสเทวี

รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร  ทัดดอกบัวหลวง  มีโมรา  (หิน)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือโลหิต  (เลือด)  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู  เสด็จประทับเหนือวราหะ  (หมู)

  4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี

มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ  ทัดดอกจำปา  มีไพฑูรย์  (พลอยสีเหลืองแกมเขียว)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือนมและเนย  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม  พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า  เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

5. นางสงกรานต์กิริณีเทว

กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี  ทัดดอกมณฑา  (ยี่หุบ)  มีมรกตเป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือถั่วและงา  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน  เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร  (ช้าง)

 6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์  ดัดดอกจงกลนี  มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์  พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ  เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา  (ควาย)

7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี

มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์  ทัดดอกสามหาว  (ผักตบชวา)  มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือเนื้อทราย  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล  เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา  (นกยูง)

ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม, กรมศิลปากร