"เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า" ไทยจี้เสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเยาวชน

04 เม.ย. 2567 | 18:20 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2567 | 18:20 น.

"เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า" ไทยจี้เสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเยาวชน หลังคณะอนุกรรมาธิการพิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กำลังประชุมและเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังเดินหน้าประชุมและเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล เพื่อพิจารณาแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าใประเทศไทย

ทั้งนี้ คาดหวังว่า กมธ. จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ใหม่มาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อคุ้มครอง เยาวชน ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 1 ล้านราย และผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยอีกกว่า 9.9 ล้านราย รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกด้วย

เครื่อข่ายบุหรี่ไฟฟ้ายังระบุอีกว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลบราซิล หลังคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจของวุฒิสภาเสนอความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนและบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย 
 

โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ระบุถึงข้อบังคับในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย รวมถึงฉลากบรรจุภัณฑ์ จากความเห็นของคณะกรรมาธิการ การควบคุมตลาดนั้นมีความจำเป็นเพื่อที่จะปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและอาจก่อให้เกิดอันตราย 

นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างตำแหน่งงานรวมถึงรายได้ภาษีให้แก่รัฐอีกด้วย โดยร่างกฎหมายจะถูกนำส่งไปพิจารณาต่อไปในคณะกรรมาธิการความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการกิจการสังคม เพื่อทำการพิจารณาขั้นสุดท้าย ก่อนส่งให้สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) ต่อไป

“เครือข่ายฯตั้งคำถามว่า การแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปเท่ากับ กมธ. ของไทยกำลังมองว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยการปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในตลาดใต้ดินที่ไม่มีการจำกัดอายุการเข้าถึง แทนที่จะมีกฎหมายออกมาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายและจำกัดอายุเช่นเดียวกับบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างนั้นจริงหรือ”

การเคลื่อนไหวผ่านร่างกฎหมายของบราซิลนับเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและสะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากกระแสของผู้บริโภคทั่วโลกที่กำลังเบนไปทางบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านสังคมหรือสุขภาพก็ตาม ล้วนเป็นกระแสที่ต้านไม่ได้ 

ส่วนในไทยวันนี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเกินกว่าจะแบนต่อไปได้แล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการหาวิธีควบคุมให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องของมาตรฐาน ความปลอดภัยของสินค้า การเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ข้อกำหนดในการใช้งาน หรือกระทั่งการจัดเก็บรายได้ภาษีเข้ารัฐ การดำเนินการของบราซิลนับเป็นการก้าวตามแนวทางของอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก หลังจากบราซิลเป็นหนึ่งในเพียง 30 กว่าประเทศที่ไม่ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้ามานานหลายปี