ครม.ไฟเขียว “ชุดไทย – มวยไทย” ต่อคิวยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม

26 มี.ค. 2567 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2567 | 15:19 น.

ครม. เห็นชอบการเสนอรายการ “ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” และ “มวยไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

วันนี้ (26 มีนาคม  2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการเสนอรายการ “ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” และ “มวยไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ

สำหรับสาระสำคัญ กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารรายการ ชุดไทย และ มวยไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เนื่องจากทั้งชุดไทยและมวยไทยมีคุณค่าและความสำคัญในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมเพื่อต่อยอด 

รวมทั้งสามารถสะท้อนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทยได้อย่างชัดเจน โดยชุดไทยถือเป็นมรดกวัฒนธรรม การแต่งกายของไทยที่แสดงถึงคุณค่าของงานช่างฝีมือ ลวดลายบนผืนผ้า เทคนิคการทอ การออกแบบ และการตัดเย็บเครื่องประดับที่งดงาม ส่วนมวยไทยถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ที่สามารถฝึกฝนและปฏิบัติได้จริงทั้งในแง่ของศิลปะการป้องกันตัวและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง 

ดังนั้น การเสนอชุดไทยและมวยไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกจะช่วยสร้างความระหนักรับรู้และภาคภูมิใจของคนไทยให้เห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพนำวัตถุดิบทางวัฒนธรรมของไทยที่มีอยู่แล้วไปต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนของสังคมควบคู่ไปกับอนุรักษ์อย่างยั่งยืน 

โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เคยเสนอรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว จำนวน 7 รายการ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และสงกรานต์ในประเทศไทย

ส่วนอีก 3 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผ้าขาวม้า และเคบายา (kebaya) อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก