ผ่าปัญหา "Influencer" ไทยมีมากอันดับ 2 อาเซียน ภาวะสังคมที่ต้องจับตา

04 มี.ค. 2567 | 13:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 14:44 น.

สภาพัฒน์ ผ่าปัญหาและทางออก กรณี “Influencer เมื่อทุกคนในสังคมล้วนเป็นสื่อ” หนึ่งในรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี2566 ซึ่งประเทศไทยมีกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับสองของอาเซียน

“Influencer : เมื่อทุกคนในสังคมล้วนเป็นสื่อ” หนึ่งใน “สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ” ที่น่าสนใจ เมื่อ “สำนักงานสาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” เขียนไว้ในรายงานภาวะสังคมไทยปีที่ 22 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2567 ไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี2566  ที่มีการแถลงไปเมื่อ 4 มี.ค. 67

รายงานของสภาพัฒน์ ระบุว่า การขยายตัวของ Influencer ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านเนื้อหา ซึ่งนำไปสู่การมุ่งสร้างเนื้อหาให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสมเท่าที่ควร และอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม

รวมทั้งบางกรณียังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยในหลายประเทศมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ซึ่งไทยสามารถนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ในการกำกับดูแลการผลิต และการนำเสนอเนื้อหาของ Influencer ได้

พัฒนาการด้านการสื่อสารและช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่หลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การรับรู้ข้อมูลของคนในสังคมเปลี่ยนไป จากเดิมที่ในอดีตจะรับข้อมูลผ่าน “สื่อกระแสหลัก” จากนักข่าวหรือนักสื่อสารมวลชนผ่านทางรายการวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ กลายเป็นการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์จากการนำเสนอของ “อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” หรือบุคคลทั่วไปที่มีอิทธิพลต่อความคิด และมีกลุ่ม “ผู้ติดตาม (Follower)” จำนวนมาก 

โดยข้อมูลจาก Nielsen21 ระบุว่า ในปี 2565 ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวน Influencer รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคนเป็นอันดับสองรองจากประเทศอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาสินค้าและรีวิวสินค้ากับกลุ่ม Follower โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี 

สำหรับ Influencer ของไทย สามารถสร้างรายได้ 800 - 700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม23 ทำให้ คนจำนวนมากสนใจเป็น Influencer เนื่องจากสามารถหารายได้ได้ค่อนข้างสูงในเวลารวดเร็ว 

โดยผลการสำรวจของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับ 10 อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่24 ในปี 2567 พบว่า อาชีพ Influencer Streamer และ Youtuber เป็นอาชีพในฝันอันดับที่ 4 สูงกว่าทนายความ นักบิน และข้าราชการ 

อย่างไรก็ตาม อาชีพ Influencer จำเป็นต้องผลิตเนื้อหา (Content) เพื่อให้มียอดผู้ติดตามและอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement) มากขึ้น อาทิ การกดถูกใจ กดติดตาม การแสดงความคิดเห็น การแชร์ จึงมักสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมของเนื้อหาก่อนเผยแพร่ไปยังสาธารณชน 

แม้ว่าแพลตฟอร์มจะมีการคัดกรองเนื้อหาที่อ่อนไหวในระดับหนึ่ง อาทิ การปิดกั้นภาพความรุนแรง การปิดกั้นภาพอนาจาร แต่ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่น ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19 มีการส่งต่อ

ข้อมูลปลอมและบิดเบือนจำนวนมาก รวมทั้งปัจจุบันยังพบการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การรับประทานอาหาร การปฏิเสธการรักษา หรือการรักษาด้วยสมุนไพร เช่น กรณี Influencer รายหนึ่งที่มีผู้ติดตามกว่า 1.67 แสนคนเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเรื่อง “สูตรสมุนไพรล้างไต” อวดอ้างสรรพคุณการดื่มน้ำต้มผสมข่า ตะไคร้ และใบเตยติดต่อกัน 7 วัน เว้น 7 วัน ว่าสามารถล้างไตและขับปัสสาวะได้

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันอย่างชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยโรคอื่น ๆ

 

พบเว็บพนันออนไลน์ โฆษณาผ่าน Influencer  

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบยอดสะสมผู้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมจำนวน 7,394 บัญชี โดยมีจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง

ส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับด้านสุขภาพมากถึง 2,213 เรื่อง การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การตลาดของเว็บพนันออนไลน์โดยใช้การโฆษณาผ่าน Influencer ซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มผู้ติดตามเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก 

จากข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ในปี 2566 พบว่า คนรุ่นใหม่เล่นการพนันออนไลน์ประมาณ 3.0 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันออนไลน์หน้าใหม่ หรือคิดเป็น
จำนวนกว่า 7.4 แสนคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.7 พบเห็นการโฆษณาหรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ 

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 1.0 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้เป็นหนี้สินจากการเล่นพนัน จำนวนกว่า 0.8 ล้านคน การละเมิดสิทธิ์ที่เห็นอย่างชัดเจนคือการนำเสนอข่าวหรือข้อมูลของผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งการนำเสนอในรูปแบบนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูง 

 

ปัญหารายงานข่าว-ละเมิดลิขสิทธิ์-สร้างค่านิยมที่ผิด

โดยพบว่า Influencer บางรายมีการเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นเร้าใจในรูปแบบแอนิเมชัน จำลอง อาทิ การฆาตกรรม การข่มขืน การฆ่าตัวตาย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด 

นอกจากนี้ การได้มาของแหล่งข่าวและการนำเสนอเนื้อหาข่าวของ Influencer ยังขาดความระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม อาทิ การทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คนที่ไม่ได้รับอนุญาต การตั้งคำถามชี้นำหรือกดดันเพียงเพื่อต้องการยอดรับชม การติดตามและการแชร์ต่อจนเป็นกระแสในวงกว้าง

รวมทั้งยังพบพฤติกรรมของ Influencer บางรายมีการนำภาพ หรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อ/ประกอบไว้ใน Content ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม เช่น Content “การอวดความร่ำรวย” 

ข้อมูลจากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 51.2 ชอบการบอกเล่าเกี่ยวกับสินค้าและบริการในลักษณะอวดแบบเปิดเผย โดยกลุ่ม Gen Z กว่าร้อยละ 74.8 เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตน (Self-Presentation) มากที่สุด รวมถึงมีพฤติกรรมการอวดบนโซเชียลมีเดีย ในเนื้อหายอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าแบรนด์เนม การบริการที่ประทับใจ และไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน

โดยเหตุผลที่อยากอวด คือ เพื่อต้องการให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีสิ่งที่ดีที่สุด และเพื่อบ่งบอกถึงสถานะทางสังคม จนกลายเป็นกระแสหรือแคมเปญ อาทิ #ของมันต้องมี หรือแคมเปญล้มอวดรวย (Falling Stars Challenge) ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดแก่ภาคธุรกิจ จากพฤติกรรมการอวดที่เรียกว่า “Bragger Marketing” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยอาจส่งผลให้มีการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดีจนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง (Unrealistic Beauty Standards) ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอีกด้วย ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของ Influencer ต่อสังคมในหลายแง่มุม 

 

หลายประเทศออกกฎหมายกำกับดูแล Influencer

ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล Influencer อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการออกระเบียบข้อห้ามเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะอวดความร่ำรวยบนโลกออนไลน์ และการใช้ชีวิตประจำวันแบบกินหรูอยู่สบายเกินความเป็นจริง อาทิ การโชว์เงินสด รถยนต์หรูหรา การกินอาหารแบบทิ้งขว้าง จนเป็นกระแสทำตาม แต่เป็นการสร้างค่านิยมในทางที่ผิด

โดยจัดให้มีการรณรงค์ผ่านโครงการ “Diligent and Thrifty” เพื่อเน้นย้ำถึงเรื่องความประหยัดและสนับสนุนให้ชาวจีนใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ ยังมีมาตรการยกเลิกการจัดอันดับความนิยมด้านชื่อเสียงเฉพาะบุคคลเพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพผลงานมากขึ้น 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกกฎหมายให้ผู้ที่เป็น Influencer จะต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาเนื้อหาหรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายบนโซเชียลมีเดีย 

นอร์เวย์ มีการออกกฎหมายกำหนดให้ Influencer ต้องแจ้งรายละเอียดการปรับแต่งภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาสินค้าบนโซเชียลมีเดียต่อหน่วยงานรัฐพร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับลงบนภาพ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน 

เช่นเดียวกับ สหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายสำหรับรูปภาพที่ผ่านการปรับแต่งดิจิทัล เพื่อกำหนดให้ผู้โฆษณา ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ และ Influencer ต้องแสดงเครื่องหมายลงบนภาพที่ได้มีการปรับแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดบนร่างกายเช่นกัน

 

ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล Influencer

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีกฎหมายในการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลอยู่บ้าง อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อควบคุมการนำเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 

รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ที่มีความพยายามจะปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้เท่าทันกับสื่อในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกฎระเบียบเจาะจงกับกลุ่ม Influencer อย่างชัดเจน 

อีกทั้ง แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการที่เน้นไปที่การตรวจสอบและเฝ้าระวังการนำเสนอข้อมูลของสื่อ ตักเตือน/แก้ไข ในกรณีที่สื่อนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมการส่งเสริมกลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อและการตรวจสอบจากภาคประชาชน รวมถึงให้การช่วยเหลือประชาชนหากได้รับความเสียหาย ขณะที่ยังไม่มีแนวทางในการกำกับหรือควบคุมการผลิตและนำเสนอเนื้อหาตั้งแต่ต้น 

นอกจากนี้ ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ของครัวเรือนไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่ม Baby Boomer ซึ่งหากไทยจะขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงกลุ่ม Influencer ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมไทย อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น 

รวมถึงควรมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ควบคู่กับการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้คนไทยทุกคนรู้เท่าทัน และมีภูมิคุ้มกันต่อการรับข้อมูลข่าวสารที่จะตรวจสอบได้ยากขึ้นในอนาคต

 

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส4 และภาพรวมปี2566 สำนักงานสาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ