ไทยตอนบนรับมือ"พายุฤดูร้อน" 24-26 ก.พ.นี้

22 ก.พ. 2567 | 16:59 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2567 | 17:05 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1 เตือนวันที่ 24-26 ก.พ.นี้ ภาคเหนือตอนล่าง อีสาน ภาคกลางรวมกทม.ปริมณฑล และตะวันออก เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น.กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1  เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนมีผลกระทบในช่วงวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2567

 

ในช่วงวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

 

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ 

 

จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

 

ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1  เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน
 

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเกี่ยวกับการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี 2567 พบว่า ไทยเข้าสู่หน้าร้อนแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และหน้าร้อนของปีนี้จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือน พ.ค.67 คาดปีนี้จะร้อนอบอ้าวทั่วไปทั้งฤดู ส่วน 5 จังหวัดที่คาดว่าจะร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 43.0-44.5 ได้แก่

  • แม่ฮ่องสอน 
  • อุตรดิตถ์
  • สุโขทัย 
  • ตาก 
  • อุดรธานี 
     

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน 2567

นางสาวกรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่าในช่วงเปลี่ยนฤดูจากปลายฤดูหนาวไปต้นฤดูร้อน (ปลาย ก.พ.-กลาง มี.ค.) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับอากาศประเทศไทยที่เริ่มร้อนขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากคลื่นกระแสลมตะวันตกที่พัดจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุม 

 

ช่วงกลางฤดูร้อน (กลาง มี.ค.-เม.ย.) มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันแรก ส่วนภาคเหนือ กลาง ตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบในวันถัดไป ทั้งนี้ บริเวณที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนรุนแรงส่วนมากอยู่บริเวณจังหวัดที่มีอากาศร้อนจัดทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

"ช่วงฤดูร้อนนี้นอกจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนและสัตว์แล้ว ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ว่าขณะนั้นอากาศร้อนเท่าไร เป็นสภาวะที่ทำให้ร่างกายเรารู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิตามจริง ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบด้วยเพื่อใช้วางแผนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และดูแลตนเองให้ปลอดภัยในฤดูร้อนนี้"
 

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน 2567