ส่องมติครม. “ยกเลิกข้าราชการ Work from home” เปลี่ยนเป็นทำงานแบบ Hybrid 

23 ก.พ. 2567 | 02:37 น.
19.3 k

เปิดมติครม.ล่าสุด 20 ก.พ. 2567 “ยกเลิก” มติครม.เดิม ที่ให้ “ข้าราชการ Work from home” ในช่วงสถานการณ์โควิด เปลี่ยนใช้แนวทางปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานใหม่ หรือ การทำงานผสมผสาน แบบ Hybrid ของสำนักงาน ก.พ.แทน 

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.พ. 2567 มีวาระที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการ เป็นการยกเลิก การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือ Work From Home

โดยวาระนี้เสนอโดย “สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)” เกี่ยวกับการบริหารราชการหรือข้าราชการ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 หนึ่งในนั้นคือ คือการเสนอ “ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 

ซึ่งเป็นเรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 4 

สาระสำคัญของเรื่องนี้ คือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดเดิม ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการหรือข้าราชการ

โดยมีแนวทางในการพิจารณา คือ มติของคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่เป็นหลักการ หรือกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจง และหน่วยงานของรัฐต้องถือปฏิบัติ ซึ่งมีผลใช้บังคับต่อเนื่องจนกว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใหม่มายกเลิกหรือเพิกถอน พบว่า ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะดังกล่าว 

สลค.พบว่า มีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการบริหารราชการหรือข้าราชการ จำนวน 30 มติ ประกอบด้วย 

  1. มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารราชการ จำนวน 27 มติ 
  2. มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้าราชการ จำนวน 3 มติ 

สลค. ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาแสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 

มีส่วนราชการได้เสนอขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 มติ และยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 มติ ดังนี้  

  1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 (เรื่อง ขอความร่วมมือในการมาตอบกระทู้ถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร) โดยขอแก้ไขในส่วนของวันที่กำหนดให้มีระเบียบวาระกระทู้ถามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จาก ทุกวันพุธ เป็น ทุกวันพฤหัสบดี เนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ได้กำหนดให้ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณากระทู้ถามทุกวันพฤหัสบดี
  2. กระทรวงการคลังได้เสนอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562  (เรื่อง แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ) เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562
  3. สำนักงาน ก.พ. ได้เสนอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9  มิถุนายน 2563 เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 4เนื่องจากมีแนวทางปฏิบัติใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เรื่อง แนวทางปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานใหม่ และตามหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.2/ว 18 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 แล้ว

 

แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ คืออะไร

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบจาก สำนักงาน ก.พ. พบ “แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม”  ซึ่งระบุในตอนว่า สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำ “แนวทางการปฏิบัติราชการ ที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่” ขึ้น

เป็นแนวทางที่ทำให้ระบบราชการ มีแนวทางการปฏิบัติราชการที่ผสมผสาน (Hybrid) ทั้งการปฏิบัติงานที่ส่วนราชการและ การปฏิบัติงานที่บ้านหรือนอกสถานที่ตั้ง เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีแนวทาง การปฏิบัติราชการรูปแบบใหม่ที่ยืดหยุ่น

สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีได้อย่างทันการณ์ และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต ที่ยากต่อการคาดการณ์

โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ จะต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานของภาครัฐและ การให้บริการประชาชน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานในภาครัฐมีความสามารถในการปรับตัวและ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยแนวทางที่สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำขึ้นนี้ จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปปรับใช้ได้กับทั้ง สถานการณ์ในภาวะปรกติ และสถานการณ์ในภาวะไม่ปรกติ อาทิ การแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติงานในหน่วยงานได้ตามปรกติ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงจะต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานวิถีใหม่ โดยมีหน้าที่รักษาภาพลักษณ์ที่ดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเสียสละและมีอุดมการณ์ ตลอดจนมุ่งสร้าง ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งหรือนอกสถานที่ตั้งก็ตาม

 

อ่านรายละเอียด : แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่