ระวังไว้! สตช. เตือน 6 ภัยออนไลน์ส่งท้ายปี มิจฉาชีพชอบฉวยโอกาสหลอกหลวง

27 ธ.ค. 2566 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2566 | 14:37 น.

สตช.เตือน 6 ภัยออนไลน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 ที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกหลวงประชาชน “หลอกซื้อขายสินค้า-หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล-หลอกรับบริจาค-สร้างข่าวปลอม-ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม-ขายทัวร์และที่พักราคาถูก

วันนี้ (27 ธ.ค. 2566) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า  พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งช่วงเวลาของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องประชาชนออกไปท่องเที่ยว ซื้อของขวัญ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวันหยุดร่วมกับครอบครัวนั้น

                                

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงขอเอาโอกาสนี้มาเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังตนเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ เพราะอย่าลืมว่า แม้จะเป็นวันหยุด แต่มิจฉาชีพไม่เคยหยุด ซึ่งรูปแบบของภัยออนไลน์ที่พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีดังนี้

1. “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” โดยมิจฉาชีพจะหลอกลวงด้วยการโฆษณาขายสินค้าราคาถูก หรือส่วนลดพิเศษเฉพาะในช่วงเทศกาล เพื่อจูงใจให้เหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อสินค้า

2. “การหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล” โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นร้านค้าต่าง ๆ แล้วโฆษณาว่าจะมีโปรโมชันพิเศษในช่วงเทศกาล หรือแจกของรางวัลต่าง ๆ แต่จะต้องลงทะเบียนก่อน หากเหยื่อหลงเชื่อ กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ก็จะถูกมิจฉาชีพนำไปใช้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อไป

3. “การหลอกรับบริจาค” โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนอาจต้องการทำบุญเพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลกับชีวิต มิจฉาชีพอาจมีการประกาศเชิญชวนให้ร่วมทำบุญ โดยอ้างบุคคลหรือกิจกรรมต่างๆ จึงควรตรวจสอบข้อมูลในกิจกรรมที่จะร่วมทำบุญว่า เป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร ก่อนจะร่วมบริจาคเงินร่วมทำบุญออนไลน์ต่าง ๆ

                             ระวังไว้! สตช. เตือน 6 ภัยออนไลน์ส่งท้ายปี มิจฉาชีพชอบฉวยโอกาสหลอกหลวง

4. “การสร้างข่าวปลอม” เพื่อสร้างยอดติดตาม หรือสร้างความตื่นตระหนก ซึ่งมิจฉาชีพอาจเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงหรือบิดเบือน เกี่ยวกับ อุบัติเหตุ การเดินทาง หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในช่วงเทศกาล มาเผยแพร่เพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือสร้างความเสียหายให้สังคม

5. “การหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม” ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล เช่น แอปพลิเคชันแต่งรูปปลอม แอปพลิเคชันจองที่พักปลอม เป็นต้น โดยหากเหยื่อหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ก็อาจถูกมิจฉาชีพควบคุมเครื่องระยะไกล หรืออาจถูกเข้าถึงข้อมูลภายในโทรศัพท์มือถือได้

6. “การหลอกขายทัวร์และที่พักราคาถูก” ซึ่งในช่วงเทศกาล กลุ่มมิจฉาชีพมักจะหลอกลวงด้วยการแอบอ้างเป็น โรงแรม ที่พัก หรือบริษัททัวร์ จากนั้นจะลงโฆษณาในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะที่พบได้บ่อยคือทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่มักจะมีการสร้างเพจปลอมเพื่อหลอกลวงพี่น้องประชาชน

โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังและอย่าเชื่อในสิ่งที่ราคาถูกหรือดีเกินจริง เพราะสิ่งที่เห็น หรือ ได้ยินในสื่อสังคมออนไลน์ อาจเป็นกลลวงของมิจฉาชีพในการหลอกลวงแสวงหาประโยชน์จากพี่น้องประชาชน โดยขอให้ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง