2 ปีปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ชี้บุหรี่เถื่อนพุ่ง-รายได้รัฐหด

17 พ.ย. 2566 | 05:10 น.

2 ปีปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ชี้บุหรี่เถื่อนพุ่ง-รายได้รัฐหด เผยล่าสุดไทยใช้โครงสร้างภาษีสรรพสมิตบุหรี่แบบผสม เก็บภาษีปริมาณในอัตรา 1.25 บาทต่อมวน และเก็บภาษีมูลค่าแบบ 2 อัตรา นักวิชาการชี้ยังไม่เห็นข้อดี

รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์การลักลอบค้าขายบุหรี่หนีภาษีหรือบุหรี่เถื่อนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ทำให้ราคาบุหรี่ในตลาดปรับเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร 

รัฐบาลก่อนได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ปัจจุบันก็เกือบจะครบ 2 ปีแล้วหลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง ทำให้สามารถประเมินผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจุบันไทยใช้โครงสร้างภาษีสรรพสมิตบุหรี่แบบผสม โดยเก็บภาษีปริมาณในอัตรา 1.25 บาทต่อมวน และเก็บภาษีมูลค่าแบบ 2 อัตรา ประกอบด้วย  

  • บุหรี่ราคาไม่เกิน 72 บาทต่อซอง เสียภาษี 25% ของราคาขาย 
  • 42% สำหรับบุหรี่ราคาเกิน 72 บาท 

นอกจากนี้ ยังมีการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต จนทำให้ราคาขายบุหรี่ราคาถูกในตลาดเพิ่มขึ้นจากซองละ 40 บาท เป็นซองละ 67 บาท หรือ 68% โดยหากพิจารณาในแต่ละมิติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายภาษีสรรพสามิตแล้วพบว่า 

  • บุหรี่เถื่อนเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็น 22% ของบุหรี่ในตลาด หรือเกือบ 1 ใน 4 ซองของบุหรี่ที่คนไทยสูบคือบุหรี่เถื่อน ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

2 ปีปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ชี้บุหรี่เถื่อนพุ่ง-รายได้รัฐหด

  • รายได้สรรพสามิตยาสูบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2566 รัฐเก็บภาษียาสูบได้เท่ากับ 57,683 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ก่อนปรับขึ้นภาษีครั้งล่าสุดที่อยู่ที่ระดับ 64,199 ล้านบาท
  • การเพิ่มขึ้นของบุหรี่เถื่อนก็ได้ตั้งคำถามถึงประสิทธิผลของนโยบายภาษีที่ใช้ควบคุมการบริโภคบุหรี่ การที่นักสูบเปลี่ยนไปสูบบุหรี่เถื่อนที่มีอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำเพราะไม่ได้มีการควบคุมการผลิตจากรัฐบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทั้งภาพคำเตือน การแจ้งสูตร และสีสันที่หีบห่อ
  • ผลการดำเนินงานของ ยสท. ถดถอยลง ในปี 2565 กำไรหดเหลือ 120 ล้านบาท และล่าสุดใน 9 เดือนแรกของปี 2566 มีกำไร 240 ล้านบาท โดย ยสท. เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษี จนทำให้ยอดขายหดตัวลงและรับซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ยาสูบได้น้อยลงกว่า 50%

การลดลงของรายได้ภาษี การเพิ่มขึ้นของบุหรี่เถื่อน และผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ของรัฐวิสาหกิจนำมาซึ่งคำถามสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบในระยะต่อไป 

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตั้งแต่ไทยใช้ภาษีบุหรี่ 2 อัตรา มายังไม่เห็นข้อดีเลย และได้เสนอแนวทางออกว่า ในต่างประเทศยังใช้ภาษีแบบอัตราเดียวเป็นส่วนใหญ่ เพราะการใช้ภาษีหลายอัตรานั้นทำให้เกิดช่องว่างในระบบภาษี ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขโครงสร้างภาษีมูลค่าให้เหลืออัตราเดียวโดยเร็วที่สุด โดยกำหนดอัตราภาษีมูลค่าให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภค

รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า จากการประเมินระบบภาษีบุหรี่ขององค์กรต่างประเทศพบว่า ไทยได้คะแนนด้านโครงสร้างภาษีต่ำ เนื่องจากการใช้โครงสร้างอัตราภาษี 2 อัตรา และเสนอให้ไทยยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าแบบ 2 อัตรา และเปลี่ยนมาใช้อัตราภาษีมูลค่าอัตราเดียวในระดับที่ไม่สูงมากนัก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลใหม่โดยนอกจากขอให้แก้ไขปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเสนอให้ปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้เหลืออัตราเดียว เพื่อลดปัญหาบุหรี่ไทยเสียเปรียบบุหรี่ต่างประเทศ

นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบจากปรับภาษีบุหรี่มาโดยตลอด จึงขอให้ทบทวนอัตราภาษีบุหรี่ให้เหมาะสม หากจะปรับโครงสร้างภาษีเป็นอัตราเดียว ก็ไม่ควรทำให้อัตราภาษีสูงขึ้นอย่างสุดโต่ง

โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ไทยมีการใช้อัตราภาษีมูลค่า 2 อัตรา ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น ไทยควรมีระบบภาษียาสูบเป็นแบบอัตราเดียว 

ซึ่งระบบภาษียาสูบตามอัตรามูลค่า 2 อัตราที่ไทยใช้อยู่ไม่ได้ลดแรงจูงใจในการบริโภคยาสูบของประชาชน และสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายมิติ จะเห็นได้ว่าทั้งนักวิชาการอิสระ รายงานการวิจัยของภาครัฐ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ควรปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าให้เป็นอัตราเดียว 

และกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมกับกำลังซื้อผู้บริโภค ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินของกรมสรรพสามิตที่ได้มีการศึกษาเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งและเห็นว่าภาษีอัตราเดียวดีกว่า 2 อัตรา 

อย่างไรก็ดี คงต้องขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ว่าจะตัดสินใจกำหนดนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร หากยังคงปล่อยให้มีการทำนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบแบบเดิมเและไม่รีบเร่งแก้ไขปัญหา นอกจากรายได้ภาษีปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท จะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยาสูบที่มีรัฐเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ รวมทั้งร้านค้ารายย่อยคงได้รับความเดือดร้อนไม่รู้จบ