เช็กกำหนดการ “งานนวราตรี 2566” 4 วันสุดท้าย "วัดแขก"

22 ต.ค. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2566 | 13:38 น.
5.1 k

เช็กกำหนดการ “งานนวราตรี 2566” 4 วันสุดท้าย "วัดแขก" ฐานเศราฐกิจรวบรวมไว้ให้หมดแล้ว วันไหนมีกิจกรรมอะไร พร้อมทั้งประวัติความเป็นมา ความหมาย ธรรมเนียมประฏิบัติ ระบุมีถึงวันที่ 26 ต.ค. 66

"งานนวราตรี 2566" หรือ "งานวัดแขก" ที่คนไทยคุ้นเคยเหลืออีก 4 วันสุดท้าย สำหรับปีนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า งานนวราตรี 2566 ยังคงมีการจัดงานอีก 4 วัน ประกอบด้วย

กำหนดการงานนวราตรี 2566

วันอาทิตย์ 22 ตุลาคม 2566 : พิธีบูชาพระแม่ปางบูชาองค์พระศิวลึงค์

  • พิธีเช้า เวลา 09.00 น.
  • พิธีบูชาโฮมัม เวลา 17.00 น.
  • พิธีบูชาใหญ่ เวลา 19.30 น.

วันจันทร์ 23 ตุลาคม 2566 : พิธีบูชาองค์พระแม่มหาสรัสวดี

  • พิธีเช้า เวลา 09.00 น.
  • พิธีบูชาโฮมัม เวลา 17.00 น.
  • พิธีบูชาใหญ่ เวลา 19.30 น.
     

วันอังคาร 24 ตุลาคม 2566 : งานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ ประจำปี 

  • ขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในเวลาประมาณ19.30 น. เป็นต้นไป

เช็กกำหนดการ “งานนวราตรี 2566” 4 วันสุดท้าย "วัดแขก"

วันพฤหัสบดี 26 ตุลาคม 2566 : พิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และพิธีอาบน้ำคณะพราหมณ์และคณะคนทรง

  • พิธีเริ่มเวลา 17.00 น. ซึ่งหลังจากเสร็จพิธี คณะพราหมณ์จะผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ที่ทำพิธีมาแล้วให้แก่สานุศิษย์ทุกคนฟรี

ประวัติงานนวราตรี

“นวราตรี” (Navaratri) เป็นเทศกาลในศาสนาฮินดูที่เหล่าผู้ศรัทธาทั่วโลกจะจัดขึ้นปีละครั้ง เพื่อเฉลิมฉลองเทิดพระเกียรติ “พระแม่อุมาเทวี” มหาเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมีอันสูงสุด เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายน-ตุลาคมของไทยในทุกปี

สำหรับที่มาในการเฉลิมฉลองมีแตกต่างกันไปตามภูมิภาคของวัฒนธรรมฮินดูในอนุทวีปอินเดีย  แต่ที่นิยมเชื่อกันมาจากวัฒนธรรมในแถบตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่เชื่อว่าในวันสำคัญนี้เป็นวันคล้ายวันพระแม่ทุรคาเทวีหรือพระแม่กาลี (ปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี) ทรงต่อสู้กับอสูรควาย (อหิงสาสูร) ที่มีอำนาจมากและไม่มีเทพองค์ใดทำลายลงได้ เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน (นวราตรี) จนได้รับชัยชนะในวันที่ 10 (วิชัยทัสมิ) จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระแม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความดีเหนือความชั่วร้ายนั่นเอง
 

ความหมายของนวราตรี

ในภาษาสันสกฤต “นว (nava)” หมายถึง “เก้า” และ “ราตรี (ratri)” หมายถึง “กลางคืน” จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เก้าคืน” ตรงตามตำนานความเชื่อของวันเฉลิมฉลองชัยชนะของพระทุรคา

ธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลนวราตรี

ในช่วงเก้าคืนนี้จะมีการบูชาพระแม่อุมาเทวี (Aumadavi) พระแม่ลักษมี (Lakshmi) และ พระแม่สรัสวตี (Saraswati) หรือ “ศักติ” ซึ่งหมายถึง พลังหรืออำนาจในเก้ารูปแบบ

พิธีนี้เป็นพิธีเก่าแก่ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระเวท จัดขึ้นเป็นเวลา 2 ครั้งต่อปีในช่วงต้นฤดูร้อน และต้นฤดูหนาว แต่ในช่วงต้นฤดูหนาวได้รับความนิยมมากกว่าและจะจัดพร้อมกันทั่วโลก 

ในการบูชา “ศักติ” นี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ในช่วงสามวันแรกจะเป็นพิธีปลุกพระแม่ทุรคาเทวีแห่งพลังอำนาจขึ้นมา เพื่อมากำจัดสิ่งเลวร้ายไม่บริสุทธิ์ต่าง ๆ

จากนั้นเทวีที่ได้รับการบูชาต่อมาคือ พระแม่ลักษมี มหาเทวีที่จะมอบความมั่งคั่งให้กับผู้ที่บูชา

และในช่วงสามวันสุดท้ายเป็นการบูชา พระแม่สรัสวตี มหาเทวีแห่งสติปัญญา ชาวฮินดูเชื่อว่า เพื่อที่จะได้รับพรครบในทุกด้าน จำเป็นที่จะต้องบูชาพระแม่ทั้งสามพระองค์ต่อเนื่องกัน 9 วัน

สำหรับประเทศไทย วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในการจัดงานนวราตรีมาก ในแต่ละปีจะมีการจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ และมีผู้มาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก ถึงกับต้องมีการปิดถนน