"บิ๊กต่อ" ผบ.ตร. ที่ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่น นรต.?

28 ก.ย. 2566 | 05:55 น.
7.1 k

ศึกชิงบัลลังก์ ผบ.ตร. "บิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" ผบ.ตร.คนใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ "บิ๊กต่อ" ถือเป็นคนแรกที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจใน "ยุค สตช." แต่หากย้อนไปใน "ยุคกรมตำรวจ" จะพบว่ามีหลายคนที่ได้จบ นรต.

ปิดฉากไปเรียบร้อยกับศึกชิงบัลลังก์ ผบ.ตร. ที่ประชุม ก.ตร มีมติ 9:2 ให้ "บิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" คว้าเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่ คนที่ 14 แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ที่จะเกษียณ 30 ก.ย.นี้  

ที่ประชุม ก.ตร วันที่ 27 กันยายน 2566

จากประวัติของบิ๊กต่อ ถือว่าเป็น ผบ.ตร.คนแรกในยุคสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยเป็นการเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิ ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

\"บิ๊กต่อ\" ผบ.ตร. ที่ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่น นรต.?

ไม่เหมือนกับ ผบ.ตร. ทั้ง 13 คนก่อนหน้านี้ที่มีทั้ง นรต.และ นรอ. ไล่มาตั้งแต่ยุค "อธิบดีกรมตำรวจ" สู่ "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองตำเเหน่งนี้ เป็นตำแหน่งสูงสุดของโครงสร้างตำรวจ แต่ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวกัน เพราะปัจจุบันกรมตำรวจที่เคยสังกัดกระทรวงมหาดไทยย้ายมาสังกัด "สำนักนายกรัฐมนตรี" จึงไม่มีตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอีกต่อไป 

 

ไล่เรียงหัวเรือใหญ่กรมปทุมวัน จาก "อธิบดีกรมตำรวจ" สู่ "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเเต่ละคนมีต่างจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เเม้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ จะไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ก็ถือว่าได้ผ่านการอบรมหลักสูตร นายร้อยตำรวจอบรม รุ่นที่ 16 (นรอ.16) มาเเล้ว 

  • คนที่ 1 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก 16 ต.ค.2541 – 30 ก.ย.2543 นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 18 (นรต.18)
  • คนที่ 2 พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ 1 ต.ค.2543 – 30 ก.ย.2544 นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 18 (นรต.18)
  • คนที่ 3 พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ 1 ต.ค.2544 – 30 ก.ย.2547 นายร้อยตำรวจรุ่น 20 (นรต.20)
  • คนที่ 4 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ 1 ต.ค.2547 – 22 เม.ย.2550 นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 22 (นรต.22)
  • คนที่ 5 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 1 ต.ค.2550 – 8 เม.ย.2551นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 24 (นรต.24)
  • คนที่ 6 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 8 เม.ย.2551 – 30 ก.ย.2552 นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 25 (นรต.25)
  • คนที่ 7 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี 2 ก.ย.2553 – 14 ต.ค.2554 นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 28 (นรต.28)
  • คนที่ 8 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ 26 ต.ค.2554 – 30 ก.ย.2555 ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ผ่านการอบรมหลักสูตร นายร้อยตำรวจอบรม รุ่นที่ 16 (นรอ.16)
  • คนที่ 9 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว 1 ต.ค.2555 – 24 พ.ค.2557 นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 29 (นรต.29)
  • คนที่ 10 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง 1 ต.ค.2557 – 30 ก.ย.2558 นายร้อยตำรวจ รุ่น 31 (นรต.31)
  • คนที่ 11 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา 1 ต.ค.2558 – 30 ก.ย.2563 นายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36)
  • คนที่ 12 พ.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข 1 ต.ค.2563 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565 นายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36)
  • คนที่ 13 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 30 กันยายน พ.ศ.2566 นายร้อยตำรวจ รุ่น 38 (นรต.38)

"ฐานเศรษฐกิจ" พาย้อนกลับไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2541 ในยุคกรมตำรวจ จะพบว่าก่อน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก มีอธิบดีกรมตำรวจ ทั้งหมด 29 คน เป็นบุคคลที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจหลายคน เช่น พลตำรวจเอก แสวง ธีระสวัสดิ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่ที่น่าสนใจคือ "พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ" อดีตอธิบดีกรมตำรวจ 

จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มแรกรับราชการทหารบก ด้วยการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลักสูตรผู้บังคับหมวด รุ่นที่ 6 จากโรงเรียนทหารราบ รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนายร้อยตรี ประจำกรมกำลังพลทหารบก และประจำกองบัญชาการศูนย์การทหารราบ ในปี พ.ศ. 2501

จากนั้นในปี พ.ศ. 2502 จึงย้ายมาเป็นตำรวจ ในยศนายร้อยตำรวจโท ประจำกองบังคับการตำรวจสันติบาล และได้เจริญในหน้าที่ราชการเรื่อยมา จนกระทั่งได้เป็น ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ, รองอธิบดีกรมตำรวจ และอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2537 ก่อนจะเกษียณอายุราชการไปในที่สุด

ดีกรีนายร้อยตำรวจ คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy) สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสังกัดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะอบรม สั่งสอน ให้การศึกษาเหล่านายร้อยตำรวจ และยังถือเป็นสถานที่คอยหล่อหลอมผู้เรียนให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร โดยหลังจากการจบหลักสูตรการศึกษาแล้วนั้นจะได้การแต่งตั้งยศเป็น "ว่าที่ร้อยตรี" โดยนายตำรวจสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจจะได้รับพระราชทานกระบี่

ปัจจุบันองค์กรตำรวจ มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่มาจากหลายแหล่ง ทั้ง นรต. ผู้จบจากมหาวิทยาลัย ตำรวจชั้นประทวนที่มีวุฒิ ป.ตรี สอบคัดเลือกได้ ตำรวจชั้นประทวนที่ไม่มีวุฒิ ป.ตรี สอบคัดเลือกได้