ชำแหละคดี “กำนันนก” สะท้อนระบบราชการ-ตำรวจ ล้มเหลว เสี่ยงกลียุค

17 ก.ย. 2566 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2566 | 14:30 น.
622

เวทีราชดำเนินเสวนา ชำแหละคดี “กำนันนก” สู่การปฏิรูปตำรวจ “วิชา” สะท้อนระบบอำนาจแบบรัฐซ้อนรัฐ ไม่รีบกำจัด อาจเกิดกลียุค ด้าน “มานะ” ชี้เห็นภาพระบบราชการล้มเหลว ส่วน “วิรุตม์” แนะแก้โครงสร้างก่อน

วันนี้ (17 กันยายน 2566) ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยในงานราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” กู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมาเราพูดกันมานานเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการสอบสวน ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุง

“งานของตำรวจเป็นงานที่ใกล้ชิดประชาชน และให้ประชาชนได้รับความอุ่นใจ โดยเฉพาะการพิทักษ์ความปลอดภัย และการมีสันติสุขในพื้นที่ แต่ปัญหาใหญ่คือองค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ใหญ่เกินขนาด คนจำนวน 2-3 แสนคน และยังเป็นองค์กรที่รวมศูนย์อยู่ส่วนกลาง แล้วจะไปดูครอบคลุมทั้งประเทศไหวไหม อีกทั้งยังเป็นองค์กรแห่งอำนาจจับกุมควบคุมตัว ทำให้คนสิ้นอิสรภาพ คล้ายกับเป็นพระเจ้า คือสามารถชี้เป็นชี้ตายได้เลย”

ขณะเดียวกันยังมีระบบอุปถัมภ์ที่อยู่ยั้งยืนยงมาตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นไปในรูปแบบนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงเกิดกรณีปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง และเรื่องส่วยต่าง ๆ มีการถูกครอบงำโดยกระบวนการภายนอก และมีผลประโยชน์มากมาย ซึ่งอาจไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของระบบอุปถัมภ์ด้วย

“ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับคนเพียงแค่ไม่กี่คนที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน แล้วมาผสมผสานกับยุคใหม่เรื่องของการได้สิทธิในการฮั้วและการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเป็นผลประโยชน์อย่างมหาศาล แล้วมีผลประโยชน์ใต้ดิน”

 

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

สะท้อนอำนาจรัฐซ้อนรัฐ เสี่ยงกลียุค

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา ระบุว่า ที่ผ่านมาตอนเคยเป็น ป.ป.ช. ครั้งแรก ก็เจอคดีส่วยยาเสพติด ถือเป็นการจับครั้งใหญ่มาก แต่พอดูกันว่ามีใครเกี่ยวข้องอยู่ในสมุด ปรากฏว่าสมุดเล่มนั้นหายตอนขั้นตอนสืบสวนสอบสวน จนไม่สามารถพิสูจน์ว่าใครรับส่วยบ้าง ในที่สุดก็จับได้แค่ตัวจิ๊บจ้อย ไปไม่ถึงข้างบน นั่นจึงทำให้เราได้รู้ว่าอำนาจในระบบแบบรัฐซ้อนรัฐ

“อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างมันรวมศูนย์อยู่ที่ อบต. อบจ. เทศบาล ดังนั้นคดีที่เกี่ยวกับฮั้วจับไปตรงไหนจับได้หมด กำนันจึงไม่ใช่แค่กำนันนกเท่านั้นที่ร่ำรวยมหาศาล คนอื่นนั่งเงียบ ๆ แต่เขาไม่ยิงตำรวจก็เลยไม่เกิดเรื่อง ก็รับกันเรื่อย ๆ มา เป็นกระบวนการที่รู้กัน กระซิบกัน เวลาจะแต่งตั้งอะไรก็มองว่ามีส่วนช่วยให้เขาอยู่รอดปลอดภัยไหมในการทำงานของเขาในเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง”

ทั้งนี้ยอมรับว่า ระบบรัฐซ้อนรัฐมีปัญหา ไม่ใช่แค่ส่วนท้องถิ่น แต่ยังมีในกระทรวง ทบวง ก็เป็นระบบนี้ ไม่ใช่แค่วงการทำตรวจ ซึ่งกรณีของกำนันนก เป็นแค่กรณีตัวอย่าง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันเรื่องในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำ และเชื่อว่า จากนี้จะมีกรณีคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้ายังปล่อยให้มีอำนาจรัฐซ้อนรัฐแบบนี้ โดยไม่รีบกำจัด ในที่สุดแล้วจะเกิดกลียุค

 

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ชี้ทำระบบราชการล้มเหลว

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นภาพสะท้อนของการคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ชั่วร้ายทุกอย่างในระบบราชการ สิ่งที่เห็น คือ ระบบราชการที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยการทุจริตคนโกง สาเหตุอาจเกิดมาจากการบริหารภาครัฐที่หลายคนก็รู้กันอยู่ และอยู่กันไปอย่างนี้ว่าขาดธรรมาภิบาล ไร้ความผิดชอบชั่วดี  

“กรณีนี้ทำให้เห็นข้าราชการที่ไม่ดี ต้องไปก้มหัวเข้าหาผู้มีอิทธิพล ทำให้ข้าราชการน้ำดีก็ถูกกดขี่ข่มเหง อย่างกรณีนี้สิ่งที่เห็นว่า เมื่อไม่ยอมเขา เขาก็ยิงเสียชีวิต ดังนั้นถ้าคนไม่พูดเรื่องนี้ให้มาก ไม่พูดกันให้ชัดเจน ไม่เอากระบวนการเอาคนผิดมาลงโทษ สุดท้ายคนดีที่ไม่มีที่ยืน และสังคมไทยจะไปไม่ได้ องค์กรภาครัฐจะล้มเหลวไปเรื่อย ๆ สังคมจะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศเลย”

ทั้งนี้ยอมรับว่า องค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับต้น ๆ จากการสำรวจของ ป.ป.ช. ปปท. หรือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยสิ่งที่เราเห็นและไม่ควรจะเป็นในสังคมไทยวันนี้ นั่นคือ ฝ่ายปกครองไปจับหวย บ่อน ซ่อง สถานบันเทิง ทำไมไม่ใช่ตำรวจ และสิ่งที่ตามมาคือประชาชนที่เดือดร้อนเขาไปพึงพาเพจต่าง ๆ หรือองค์กรช่วยเหลืออื่นแทน เพราะพึ่งไม่ได้

 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)

 

เปลี่ยนโครงสร้างแล้วมีแต่ปัญหา

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กรณีกำนันนก มีผลสะท้อนออกมาหลายมิตินอกเหนือจากที่เป็นข่าวอยู่ ทั้งปัญหาตำรวจ และปัญหาการสอบสวนคดีอาญาด้วย สิ่งสำคัญคือถ้าอยากจะแก้ปัญหาต้องรู้สาเหตก่อน แล้วค่อยคิดไปแก้ปัญหา เช่น เรื่องของโครงสร้างองค์กรที่ผิดพลาด 

ทั้งนี้ยอมรับว่า เดิมสมัยเป็นกรมตำรวจตำรวจไม่ได้เลวร้ายเท่านี้ สมัยอยู่กระทรวงมหาดไทย โครงสร้างจะล้ออยู่กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าพนักงานเป็นหลัก โดยปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อแยกตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้โครงสร้างการรักษาความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิอาญา เสียไปเลย อธิบดีกรมตำรวจ กลายเป็น ผบ.ตร. เช่นเดียวกันกับ ผบ.ทบ. ทั้งที่จริงแล้วเป็นแค่เจ้าพนักงานยุติธรรม 

“แม้ก่อนจะแยกออกไปปัญหาการซื้อขายตำแหน่งก็ไม่ค่อยมี ยังมีน้อย แต่พอแยกมาก็เริ่มได้ยินเป็นระยะ ๆ จนปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่เวลาตำรวจเจอกันก็ได้ยินว่าวิ่งใครแล้วใช้เท่าไหร่ แพงไหม ชัวร์ไหม เขาถามกันแบบนี้แล้ว”  

พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า เรื่องความเลวร้ายในองค์กรตำรวจ ถ้าถามประชาชนอาจบอก 50-50 แต่ถ้าถามตำรวจว่ามีการซื้อขายตำแหน่งไหม เชื่อว่ามี 99.99% บอกว่ามี เลวร้ายเสียยิ่งกว่าประชาชนรู้อีก โดยปัญหาแท้จริงอยู่ที่การไม่ยอมรับกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจ

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม