“เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” รับตัว "กำนันนก" ไว้แล้ว พบมีอาการเครียด

10 ก.ย. 2566 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2566 | 11:27 น.

"เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” รับตัวกำนันนกไว้แล้วพบมีอาการเครียด ปรับตัวได้ตามปกติ เข้าสู่แดนกักโรคเพื่อตรวจการติดเชื้อโควิด -19 รับประทานอาหารเช้าเป็นข้าวสวยและแกงจืดหมูใส่ผัก

วันที่ 10 กันยายน 2566 นายสิทธิ สุวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณีของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก กำนันตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม ผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เสีย

นายสิทธิฯ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่าได้รับ ข.ช.ประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก ในข้อหากระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น ไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 15.30 น. จากศาลอาญา รัชดา เข้าสู่กระบวนการแรกรับตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของเรือนจำ (SOPs) โดยมีเจ้าหน้าที่งานรูปพรรณ ฝ่ายจำแนกชีวิต นั้น

ลักษณะผู้ต้องขัง ได้ดำเนินการสอบถามประวัติ พิมพ์มือ ถ่ายรูป หลังจากนั้นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ดำเนินการตรวจสุขภาพและสอบถามประวัติการรักษา ซึ่งผู้ต้องขังแจ้งว่ามีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง มีน้ำหนักตัวมาก และภายนอกมีอาการเครียด มีความกังวลอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากที่ส่งตัวเข้าคุมขังที่แดนกักโรค โดยมีผู้ต้องขังเป็นเพื่อนร่วมห้องจำนวน 4 คน เมื่อคืนนี้ สามารถนอนหลับและรับประทานอาหารได้ โดยเช้านี้ เวลา 05.30 น. ตื่นมาทำกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ รับประทานอาหารเช้าที่ทางเรือนจำจัดเตรียมไว้ เป็นข้าวสวยและแกงจืดหมูใส่ผัก

หลังรับประทานอาหารได้นอนพักผ่อนและพูดคุยกับเพื่อนผู้ต้องขังได้ตามปกติ หลังจากนี้ จะผ่านการคัดกรองโรค ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกักตัวอยู่ในสถานที่กักกันโรคของแดนแรกรับ เป็นระยะเวลา 5 วัน ก่อนจะส่งไปที่ห้องกันชน เพื่อดูอาการอีก 5 วัน หากตรวจแล้วไม่พบ เชื้อโควิด-19 จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป คือการพิจารณาของคณะกรรมการจำแนกลักษณะ ผู้ต้องขังที่ต้องสัมภาษณ์ ดูประวัติเป็นรายบุคคลว่าจะส่งตัวไปควบคุมที่แดนใดต่อไป

“เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” รับตัว "กำนันนก"

 

 

นายสิทธิฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีจิตแพทย์เข้าตรวจ เป็นประจำทุกสัปดาห์ ตลอดจนมีนักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติหน้าที่คอยดูแลด้านสุขภาพจิต โดยเป็นไปตามกระบวนการต่างๆของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายใต้กรอบของกฎหมายและมาตรฐานการดูแลควบคุมผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน.