ย้อนประวัติ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รับ “ทักษิณ ชินวัตร” จำคุกแดนเจ็ด

22 ส.ค. 2566 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2566 | 13:59 น.

ย้อนประวัติ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังรับ “ทักษิณ ชินวัตร” จำคุกในแดนที่เจ็ด หลังศาลฏีกาพิพากษา สั่งจำคุกเป็นระยะเวลา 8 ปี

คุมตัว “ทักษิณ ชินวัตร” เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลฏีกาพิพากษาจำคุก 8 ปี โดยติดอยู่ในแดนที่เจ็ด สำหรับเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งอยู่เลขที่ 33 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ส่วนขั้นตอนรับนายทักษิณ เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีดังนี้ ตรวจร่างกาย, คัดกรองโควิด-19 เป็นเวลา 10 วัน, จากนั้นแยกแดน เพื่อคุมขัง, ถ้าระหว่างนั้นมีอาการป่วยเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์, หากป่วยอาการหนักสามารถไปรักษาตัวนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้

ย้อนตำนานเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีการตรากฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว มีอายุยืนยาวนานมากกว่า 120 ปี และเป็นเรือนจำที่ถูกกำหนดชื่อเปลี่ยนไปตามภารกิจ ไม่น้อยกว่า 8 ชื่อ จากเดิมเรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 436 ถนนมหาไชย ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า “ การคุกการตะรางเป็นความสำคัญของประเทศ สมควรจะได้ก่อสร้างสถานที่และจัดระเบียบเป็นปึกแผ่น” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินตำบลตรอกคำถนนมหาไชย สร้างคุกขึ้นใหม่เรียกว่า “ กองมหันตโทษ” และสร้างกองลหุโทษที่ถนนหับเผย ( บริเวณกระทรวงยุติธรรม เดิม ที่สนามหลวง) คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างใหม่ ณ ตำบลตรอกคำ ถนนมหาไชย เริ่มก่อสร้างเมื่อ ร.ศ. 108

ได้แบ่งพื้นที่ก่อสร้างภายในกำแพงเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นโรงครัวสำหรับหุงต้มอาหารเลี้ยงพวกนักโทษ ส่วนหนึ่งเป็นตึกที่ขังนักโทษ ซึ่งมีทั้งหมด 4 หลัง เป็นตึก 3 ชั้น จำนวน 2 หลัง ( ต่อมาถูกยุบลงเหลือ 2 ชั้น สมัยนั้นเรียกว่าตึก 1 และตึก 2 ควบคุมผู้ต้องขังคดีทั่วไป ) และตึก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง ( สมัยนั้นเรียกว่าตึก 3 ใช้ควบคุมผู้ต้องขังชาวต่างประเทศ และตึก 4 ควบคุมผู้ต้องขังเข้าใหม่) ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับให้นักโทษทำงานหรือฝึกอาชีพประเภทช่างต่าง ๆ และพื้นที่ทั้ง 3 ส่วน ก็มีกำแพงกั้นเป็นส่วน ๆ

หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต่อมา ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 293/2516 ลงวันที่ 23 เมษายน 2516 ความว่าโดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335/2515 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2515 ให้เรียกนครหลวงของประเทศไทยว่า “ กรุงเทพมหานคร” จึงเห็นควรเรียกชื่อเรือนจำนครหลวงกรุงเทพธนบุรีว่า เรือนจำกรุงเทพมหานคร จึงให้ยุบเลิกเรือนจำนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นเรือนจำพิเศษ เรียกชื่อว่า “ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” มีพื้นที่ประมาณ 24 ไร่ - งาน 72 ตารางวา เพื่อดำเนินการควบคุม อบรม และ ฝึกอาชีพผู้ต้องขัง ถัดจากนั้นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ย้ายไปใช้พื้นที่และสถานที่ของทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน เดิม ที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 23 ไร่ 1 งาน  เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการทยอยย้ายผู้ต้องขังมาที่เรือนจำแห่งใหม่ ถนนงามวงศ์วาน ( ทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขนเดิม ) ครั้งแรกในสมัย นายณรงค์ชัย สุวารีเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ

บทบาทเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังที่กระทำผิดเฉพาะในเขตฝั่งพระนคร ยกเว้นเขตมีนบุรี เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง และผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด เมื่อศาลพิพากษาจำคุกคดีถึงที่สุดแล้ว จึงย้ายไปคุมขังที่เรือนจำอื่นต่อไป (คลิกอ่านรายละเอียด) 

สำหรับบิ๊กเนมที่ติดคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีดังนี้

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว. พาณิชย์ เพิ่มขึ้นอีก 6 ปี รวมจำคุกเป็นเวลา 48 ปี  คดีจำนำข้าว

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา  มีเจตนากลั่นแกล้งให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ให้รับโทษทางอาญา เนื่องจากใช้อำนาจในฐานะอธิบดีดีเอสไอสั่งฟ้องโดยไม่ผ่าน ป.ป.ช. ในคดีสั่งสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553.