แผ่นดินไหวพิษณุโลก กรมอุตุฯย้ำไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนมีพลัง

29 มิ.ย. 2566 | 11:27 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 11:38 น.
507

กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ "แผ่นดินไหวพิษณุโลก" ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง คาดอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้สำรวจ Hidden Fault มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ "แผ่นดินไหว" ขนาด 4.5 ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา โดย ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดเผยว่า กรณีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00:17 น. มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก  โดยเป็นแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.5 ความลึก 5 กิโลเมตร และได้รับแจ้งความรู้สึกสั่นไหวเป็นบริเวณกว้างในบริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร  สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวพิษณุโลก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault)ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault) ซี่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าแผ่นดินไหวเกิดจากแนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 
 

แผ่นดินไหวพิษณุโลก

ดร.ชมภารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน

 

ปัจจุบันกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ มีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับ พื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล
 

"กรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามและรายงานสถานการณ์ต่อไป ขอให้ประชาชน                     ติดตามประกาศอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์, เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา หรือทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2366 9410, 0 2399 0969, 0 2399 4547 และสายด่วน 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง "

แจ้งเตือนแผ่นดินไหว

อนึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสถิติการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณจังหวัดพิษณุโลก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สถิติการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวพิษณุโลก