กรมอุตุฯยืนยัน แผ่นดินไหวเมียนมาไม่กระทบไทย-ไม่ก่อให้เกิดสึนามิ

20 มิ.ย. 2566 | 15:17 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 15:21 น.

"แผ่นดินไหว"เมียนมา ไม่กระทบไทย กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ไม่สร้างความเสียหาย ย้ำไม่ก่อให้เกิดสึนามิ

จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.0 บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมายืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย และในกรณีนี้เกิดจากรอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสึนามิจากแผ่นดินไหว ทั้งนี้ การเกิดอาฟเตอร์ช็อกก็จะมีขนาดลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ

 

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย. 2566 เวลา 08.40 น.) เกิดจากการเลื่อนตัวตามแนวระนาบของรอยเลื่อนสะกาย (Sagiang Fault) ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังที่พาดผ่านตอนกลางของประเทศและต่อยาวลงมาถึงทะเลอันดามัน วัดได้ขนาด 6.0 ความลึก 10 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 500 กิโลเมตร หลังจากนั้น ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา 8 ครั้ง (เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 19 มิถุนายน 2566) โดยมี ขนาดตั้งแต่ 3.0-3.9 จำนวน 3 ครั้ง และขนาด 4.0- 4.9 จำนวน 5 ครั้ง 

 

"เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทย แต่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณอาคารสูง (โดยเฉลี่ยสูงกว่าชั้น 10 ขึ้นไป) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร จะรับรู้ถึงการสั่นไหว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีลักษณะของดินอ่อน ส่งผลให้มีการขยายสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหว "
 

ดร.ชมภารี ยืนยันว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย และในกรณีนี้เกิดจากรอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสึนามิจากแผ่นดินไหว ทั้งนี้ การเกิดอาฟเตอร์ช็อกก็จะมีขนาดลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ

 

"เรามีการเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กล่าวคือการตรวจ เฝ้าระวัง ติดตามและรายงานการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อทำการวิเคราะห์จำแนกคลื่นแผ่นดินไหว คำนวณหาตำแหน่งการเกิดรายงานศูนย์กลาง ขนาด ความลึก วันเวลา สถานที่เกิดแผ่นดินไหว จากนั้นจะออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนพร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที" 

 

ปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยามีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวชนิดอัตราเร็ว 75 สถานี สถานีตรวจวัดอัตราเร่ง 55 สถานี และสถานี GPS 13 สถานี ตลอดจนมีความร่วมมือในการใช้ข้อมูลเครือข่ายแผ่นดินไหวร่วมกันกับทั้งภายในประเทศ เช่น กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ IRIS, GFZ และ CTBTO รวมทั้งสิ้น 486 สถานี 
 

ดร.ชมภารี กล่าวว่า  ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา จับมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ LINE ประเทศไทย เปิดตัว LINE ALERT บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง ประชาชนสามารถเพิ่มเพื่อนที่บัญชี @linealert เพื่อติดตามการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่ประชาชนผ่านการบูรณาการข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น

 
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา