ระวัง "ธนบัตรปลอม" แบงก์ชาติแจ้งพบการระบาดใน 10 จังหวัด

19 มิ.ย. 2566 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 14:06 น.

เตือนประชาชนระมัดระวัง "แบงก์ปลอม" หลังธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งพบระบาดใน 10 จังหวัดส่วนใหญ่ในภาคอีสาน แนะวิธีสังเกต "แบงก์จริง-แบงก์ปลอม" เผย หากรับมาแล้วห้ามใช้ต่อมีความผิดตามกฎหมายจำคุกสูงสุด 10 ปี

จากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้แจ้งเตือนว่า ขณะนี้ได้พบสถานการณ์ธนบัตรปลอมในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ นั้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยล่าสุด นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนในจังหวัดดังกล่าว จังหวัดใกล้เคียงตลอดจนในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศเพิ่มความระมัดระวังในการรับธนบัตรโดยเฉพาะผู้ทำการค้าขายที่ต้องรับจ่ายธนบัตรอยู่เสมอ

สำหรับ 10 จังหวัดที่พบสถานการณ์ธนบัตรปลอม อาทิ  

  • ขอนแก่น
  • อุดรธานี 
  • กาฬสินธุ์ 
  • ร้อยเอ็ด 
  • มหาสารคาม 
  • หนองบัวลำภู 
  • นครราชสีมา
  • ชัยภูมิ 
  • มุกดาหาร
  • เพชรบูรณ์ 

 

ทั้งนี้ ธปท.ได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันธนบัตรปลอมโดยให้สังเกตทุกครั้งก่อนรับธนบัตร

วิธีสังเกตทำได้หลายวิธี 

1.สัมผัสที่กระดาษธนบัตร

  • มีความแตกต่างจากกระดาษทั่วไป คือ มีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เนื่องจากธนบัตรทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก

2.สังเกตลายพิมพ์เส้นนูนบนธนบัตร

  • ภาพและลายเส้นบนธนบัตรจะมีความรายละเอียดคมชัด คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะรู้สึกสะดุด

3.สังเกตด้วยวิธียกส่อง-สังเกตที่ลายน้ำ

  • บนธบัตรไทยของจริง ลายน้ำจะเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร
  • ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษด้วย

4.สังเกตได้ด้วยการพลิกเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง

  • กรณีธนบัตรจริงจะพบตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์
  • สำหรับธนบัตรชนิดชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท ลายดอกประดิษฐ์จะพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติที่เปลี่ยนสีได้ ภายในลายดอกประดิษฐ์จะมีมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวาจะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี
  • ชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย

อย่างไรก็ดี หากเผลอรับธนบัตรปลอมไว้แล้ว ต้องไม่นำไปใช้ต่อ เนื่องจากจะมีความผิดฐานใช้ธนบัตรปลอม ตามมาตรา 245 ประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ควรนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งเข้าระบบเพื่อทำลาย หรือนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมแจ้งลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้ที่นำธนบัตรปลอมมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุมต่อไป หรือแจ้ง ธปท. โทร. 0 2356 7987

หากเป็นกรณีที่ประชาชนได้แจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายธนบัตรปลอม จนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้ จะได้รับเงินสินบนตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลการจับกุมการปลอมแปลงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2529  ใน 2 กรณี คือ

1) กรณีที่จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นอุปกรณ์ ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือ ธปท. แล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

2) กรณีที่จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นธนบัตรปลอม เงินสินบนจะอยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอมหรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสังเกตธนบัตรเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย