แบงก์ปลอม คนแจ้งจับรับเงินแสน คนผลิต-ใช้ ติดคุกหัวโต

10 ธ.ค. 2565 | 12:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 20:03 น.

แบงก์ปลอม โทษหนัก ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ ทั้งปรับ ทั้งจำคุกหัวโต ส่วนพลเมืองดีพบเบาะแสรีบแจ้ง ได้รางวัลนำจับ สูงสุด 100,000 บาท

จากกรณีเพจที่ใช้ชื่อว่า จำหน่ายแบงค์-ธนาบัตร ได้โพสต์ภาพ ธนบัตรราคา 1,000บาท จำนวนมาก พร้อมข้อความ ประกาศขายธนบัตรปลอม การันตีใช้งานได้จริง มีความเหมือน 95% ซ้ำยังระบุด้วยว่า หากใครซื้อไปแล้วมีปัญหา พร้อมรับผิดชอบทุกบาท และจ่ายค่าปรับให้ ซึ่งล่าสุดเพจดังกล่าวได้ปิดไปแล้ว ซึ่งโทษของการผลิต และใช้ ธนบัตรปลอมนั้น เป็นความผิดทางอาญา มีทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ ส่วนผู้แจ้งจับจะได้รับรางวัลนำจับด้วย

จำหน่าย แบงก์ปลอม

ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ จะพาไปเปิดอัตราโทษ ของฐานความผิดเกี่ยวกับเงินตรา และรางวัลนำจับสำหรับพลเมืองดีที่พบเห็นเบาะแส ของการกระทำความผิด

 

ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560

  • มาตรา 240 ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 – 20 ปี และปรับตั้งแต่200,00-400,00 บาท
  • มาตรา 241 ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์  ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธนบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,00 – 400,00 บาท 
  • มาตรา 244 ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1- 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 300,000 บาท
  • มาตรา 245 ผู้ใดได้มาซึ่งสิ่งใด ๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ถ้าต่อมารู้ว่าเป็นของปลอมหรือของแปลงเช่นว่านั้น ยันขืนนำออกใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 246 ผู้ใดทำเครื่องมือ หรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตราไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือสำหรับปลอมหรือแปลงพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้น เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 300,000 บาท
  • มาตรา 249 ผู้ใดทำบัตร หรือโลหะธาตุอย่างใดๆ ให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือจำหน่ายบัตร หรือโลหะธาตุเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการจำหน่ายบัตร หรือโลหะธาตุดังกล่าวในวรรคแรก เป็นการจำหน่ายโดยการนำออกใช้ดังเช่นสิ่งใด ๆ ที่กล่าวในวรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

รางวัลนำจับธนบัตรปลอม

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลการจับกุมการปลอมแปลงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2529 ได้ตั้งเงินสินบนให้กับผู้แจ้งความและเงินรางวัลให้กับผู้จับกุมธนบัตรปลอมแปลง  ดังนี้ 

 

เงินสินบน จ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังนี้ 

  • กรณีที่ 1  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นอุปกรณ์ ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
  • กรณีที่ 2  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นธนบัตรปลอม ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม หรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

 

เงินรางวัล  จ่ายให้แก่ผู้จับกุม ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังนี้ 

  • กรณีที่ 1  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นอุปกรณ์ให้จ่ายเงินรางวัลในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
  • กรณีที่ 2  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นธนบัตรปลอมให้จ่ายเงินรางวัลในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม หรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

ในกรณีที่จับกุมได้โดยไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับกุมไม่เกินร้อยละ 30 แล้วแต่กรณี 

 

การขอรางวัลนำจับ

ให้ผู้แจ้งความนำจับหรือผู้จับกุมยื่นคำขอต่อบุคคลต่อไปนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันสั่งฟ้องผู้ต้องหา หรือวันที่คดีถึงที่สุดแล้วแต่กรณี 


(1) ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมธนารักษ์ 
(2) ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับคำขอ ส่งคำขอรับเงินสินบน หรือเงินรางวัล พร้อมด้วยหลักฐานไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอรับเงิน

การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจะจ่ายให้ทันทีครึ่งหนึ่ง เมื่ออัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา และเมื่อศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิด จะจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง 
การขอรับเงินสินบน เงินรางวัล
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย