เข้าใจแนวคิด แบ่งแยกดินแดน “รัฐปาตานี” วาทกรรมที่ถูกผลิตซ้ำ ผ่านงานวิจัย

10 มิ.ย. 2566 | 13:25 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2566 | 14:07 น.
1.1 k

เปิดงานวิจัย ตีแผ่แนวคิดแบ่งแยกดินแดน ผ่านวาทกรรมรัฐมลายูปาตานีที่ถูกผลิตซ้ำ ด้วยการเอาหลักศาสนาตีความทับประวัติศาสตร์ พร้อมแนวทางแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กรณีที่มีการอภิปรายของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เรื่องการกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานีและมีการทำแบบสอบถามความเห็นที่จะให้ประชาชนปาตานี สามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องกฎหมายที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้จุลสารความมั่นคงศึกษา เรื่องชาติพันธุ์ชาตินิยมในภาคใต้ไทย The Ethnonationalism in Southern Thailand โดยสถาบันการข่าวกรอง สํานักข่าวกรองแห่งชาติ เมื่อปี 2561 ได้เผยแพร่งานวิจัย "พลวัตของชุมชน 2 วิถีภายใต้วาทกรรมชาตินิยมมลายูปาตานีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ดร.ณัฏฐินี ปิยะศิริพนธ์ อาจารย์ประจําวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขไว้อย่างน่าสนใจ โดยสรุป ดังนี้

วาทกรรมชาติพันธุ์ชาตินิยมมลายูปาตานี

ผลจากการศึกษาพบว่า ขบวนการกลุ่มผู้เห็นต่างได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐบาลไทยจากเดิมที่เน้นการสู้รบด้วยกองกําลังติดอาวุธและมีฐานที่มั่นในป่าและภูเขา จนในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ คือ การแบ่งแยกดินแดนปกครองตนเอง จึงได้ปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้ขึ้นมาใหม่ คือการสร้างฐานการต่อสู้จากชุมชนหรือเรียกว่า “สร้างฐานมวลชนจัดตั้ง” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2527

โดยการสร้างอุดมการณ์การแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเองของชนชาติมลายูด้วยการปลุกระดมบ่มเพาะสร้างจิตสำนึกมวลชนให้ต่อสู้และต่อต้านรัฐไทย โดยใช้ชุมชนมลายูเชิงเดี่ยวเป็นชุมชนเป้าหมาย พัฒนาไปสู่การจัดตั้งมวลชนสนับสนุนการต่อสู้ และให้หมู่บ้านมลายูมุสลิมเชิงเดี่ยวนั้นเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้กับรัฐบาล เพื่อทําสงครามปลดปล่อยไปสู่ความเป็นเอกราชหรือแบ่งแยกดินแดน

วาทกรรมมาลายูปาตานีที่ถูกผลิตซ้ำ

การสร้างจิตสํานึกเช่นนี้ เกิดขึ้นจากการปลูกฝังฐานคิด 3 ประการลงไปในชุมชนเป้าหมาย คือ

1.สร้างเงื่อนไขประชาชาติที่เป็นพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างรัฐสยามกับประชาชาติมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.สร้างแนวคิดอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวแบบสุดโต่ง ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์ชาตินิยมมลายูปาตานี (ปัตตานี) คือมาตุภูมิ และแนวคิดอิสลามหัวรุนแรง (ญีฮาด) นําสู่การปฏิเสธการอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรม

3. ปลูกจิตสํานึกสร้างเอกภาพของชาติพันธุ์มลายูปาตานีให้เกิดเป็นอุดมการณ์ร่วมในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการปกครองของรัฐไทยไปสู่การปกครองตนเอง

วาทกรรมชาติพันธุ์ชาตินิยมมลายูปาตานีที่ถูกขับเคลื่อนจากกลุ่มผู้เห็นต่างผ่านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนานั้น แท้ที่จริงแล้วศาสนากับชาติพันธุ์เป็นคนละเรื่องกัน แต่ถูกนํามาผูกโยงเข้าด้วยกัน โดยการบิดเบือนข้อมูลบางอย่าง

โดยกลุ่มผู้เห็นต่างได้หยิบยกประวัติศาสตร์ ของพื้นที่ในแง่ของประวัติศาสตร์ดินแดนมาตุภูมิของอาณาจักรลังกาสุกะ จนกระทั่งเป็นนครรัฐปาตานีพัฒนาเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมปาตานีสุดโต่ง อันมาจากรากฐานทางชาติพันธุ์มลายูที่เกิดและอาศัยบนดินแดนปาตานีที่ถือเป็นดินแดนมาตุภูมิ และศาสนาอิสลามมาผลิตซ้ำ

กล่าวคือ การผลิตซ้ำ ความเจ็บปวดผ่านสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์บาดแผล แนวคิดชาติพันธุ์มลายู ซึ่งโดยปกติแล้วความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นเรื่องธรรมชาติ หากแต่ในพื้นที่นี้กลับถูกนํา มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ออกจากกันด้วยวาทกรรมสร้างความเป็นอื่น (แยกเขา-แยกเรา) และแนวคิดศาสนาอิสลามที่ถูกบิดเบือน

เอาหลักศาสนาตีความทับประวัติศาสตร์มลายูปาตานี

ขบวนการกลุ่มผู้เห็นต่างนี้ได้นําเอาหลักศาสนาอิสลามมาตีความทับประวัติศาสตร์มลายูปาตานีที่เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ท้องถิ่นมลายูปาตานี ให้ดํารงสถานะ “รัฐอิสลาม” ก่อเกิดแนวคิดอุดมการณ์การเมืองใหม่ที่ผสมผสานทั้งชาตินิยมและศาสนา และได้ใช้เงื่อนไขคลุมเครือเช่นนี้ชี้นําไปสู่การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีให้เป็นการต่อสู้เพื่ออิสลาม

กลุ่มคนกลุ่มนี้เองที่ขับเคลื่อนกระบวนการปลุกระดมบ่มเพาะแนวคิดการเมืองใหม่ภายใต้เงื่อนไขความแตกต่างของอัตลักษณ์เฉพาะ นําไปสู่ความเชื่อว่ามาตุภูมิปาตานีเป็นดินแดนแห่งสงครามเพื่อปกป้องอิสลาม หรือสงคราม “ญีฮาด” นั่นเอง

การบ่มเพาะวาทกรรมชาติพันธุ์ชาตินิยมมลายูปาตานีโดยขบวนการกลุ่มผู้เห็นต่างยังคงมีอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วาทกรรมดังกล่าวนํา ไปสู่การเกิดสังคมเชิงเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่

กล่าวคือมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรในพื้นที่เป็นชาติพันธุ์มลายูนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนแยกออกมาจากชาวพุทธ นําไปสู่การแยกกันอยู่ แยกศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม และการแยกโรงเรียน โดยชาวมุสลิมและพุทธจะแยกกันเรียนคนละโรงเรียนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมปลาย

ส่งผลให้พวกเขาขาดโอกาสที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม และเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออํานวยให้เกิดกระบวนการปลุกระดมบ่มเพาะสร้างวาทกรรมชาติพันธุ์ชาตินิยม และศาสนาหัวรุนแรงที่นําสู่การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะเชิงเดี่ยวเป็นปัจจัยสําคัญที่ส่งผลไปสู่การแบ่งแยกและเกลียดชัง พัฒนาไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้งเชิงประชาชาตินําสู่ความรุนแรง

ช่วงสิ้นสุดยุคสงครามเย็น คําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ได้ประกาศใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้เพื่อเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ ทางขบวนการกลุ่มผู้เห็นต่างได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้วยเช่นกัน โดยจากการตั้งฐานบนภูเขาหรือในป่าย้ายเข้าสู่หมู่บ้านหรือชุมชน

ดังนั้นชุมชนมลายูมุสลิมเชิงเดี่ยว จึงเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนวาทกรรมชาติพันธุ์-ชาตินิยมมลายูปาตานี

นอกจากนี้ การสร้างหลักการปฏิเสธทั้ง 5 ประการ ผ่านกระบวนการปลุกระดมบ่มเพาะอย่างยาวนาน จนเกิดปรากฏการณ์ปฏิเสธความเป็นพหุสังคม จึงทําให้สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นสังคมเชิงเดี่ยว ขบวนการกลุ่มผู้เห็นต่างกําหนดให้ชุมชนเชิงเดี่ยวดังกล่าวเป็นฐานในการต่อสู้กับรัฐบาลในลักษณะสงครามแบบแผนใหม่ ที่มีลักษณะของความเป็นอสมมาตร ซึ่งก็คือกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาความเข้มข้นของวาทกรรมชาติพันธุ์ชาตินิยมมลายูปาตานี เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งเชิงประชาชาติ

สําหรับผลการศึกษาการดํารงอยู่ของชุมชน 2 วิถี หรือชุมชนพหุวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น พบว่าในชุมชนมีองค์ประกอบหลักที่สําคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ผู้นํา 4 เสา สถาบัน ครอบครัวและสถาบันการศึกษา โดยทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าวมีบทบาทและทํา หน้าที่ในการยึดโยงชุมชน เพื่อนําไปสู่การสร้างกลไก ของชุมชนทั้งกลไกหนุนเสริมพหุวัฒนธรรม และกลไกขจัดความขัดแย้งในชุมชนและระหว่างชุมชน การสร้างความศรัทธาตามหลักคําสอนของศาสนาอิสลาม (ชุมชนตักวา)

กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรมในระบบโรงเรียนตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนถึงชั้นอุดมศึกษา รวมถึงการเติมเต็มความรู้ในเรื่องพหุวัฒนธรรมนอกระบบโรงเรียน กิจกรรมพหุวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับศาสนบัญญัติ รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นข้อตกลงของชุมชน

สําหรับชุมชนเชิงเดี่ยวนั้นพบว่า หากชุมชนนั้นมีปัจจัยหนุนเสริมพหุวัฒนธรรมมากจะส่งผลต่อความรู้ความเข้าใจในพหุวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคลและจะนําไปสู่การลดอิทธิพลของวาทกรรมชาติพันธุ์ชาตินิยมมลายูปาตานีที่สุดโต่งได้

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างชุมชนศรัทธา (ชุมชนตักวา) ภายใต้หลักคําสอนของศาสนา

2. หนุนเสริมให้เกิดปัจจัยนําสู่แนวคิด “ชาตินิยม” มลายู ปาตานีเชิงบวกในกลุ่มเยาวชนและปัญญาชนรุ่นใหม่ รวมทั้งส่งเสริมความเป็นพลเมืองไทยในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม

3. กําหนดแนวทางการจัดการศึกษาเรื่องพหุวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับหลักคําสอนของศาสนา ทั้งในและนอกระบบของโรงเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย (ตาดีกา)

4. กระตุ้นให้เกิดกลไกชุมชนตามธรรมชาติในการจัดการชุมชน

5. สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับต่อ ปัญหาสามจังหวัดที่เป็นประเด็นการต่อสู้ทางความคิดและวาทกรรมชาตินิยมมลายูปาตานี

6. นโยบายต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ต้องสามารถเสริมศักยภาพของชุมชน สอดคล้องกับบริบท ทรัพยากรและภูมิปัญญาในพื้นที่ และต้องสามารถสร้างความร่วมมือกันระหว่างชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิมในชุมชนหรือระหว่างชุมชน