มุมมองพญาอินทรี ชี้การเมืองไทยยังเปราะบางหลังเลือกตั้ง

07 มิ.ย. 2566 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 13:48 น.

สหรัฐชี้การเมืองไทยยังเปราะบางหลังเลือกตั้ง ลั่นสหรัฐพร้อมสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย "เราจะร่วมงานกับรัฐบาลไทยนับจากนี้"

 

นายเคิร์ท แคมป์เบล เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวฝ่ายประสานงานด้านอินโด-แปซิฟิก กล่าววานนี้ (6 มิ.ย.) ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ สถานการณ์การเมือง ที่เปราะบาง ภายหลังการเลือกตั้ง เสร็จสิ้นลงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเป้าหมายของสหรัฐคือการสนับสนุน รัฐบาลประชาธิปไตย ที่มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ

"สหรัฐจับตาการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และเรามองว่าไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง โดยเฉพาะในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง" นายแคมป์เบลกล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันฮัดสัน ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.)

เคิร์ท แคมป์เบล เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวฝ่ายประสานงานด้านอินโด-แปซิฟิก 

นายแคมป์เบลยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐอเมริกากำลังมองหาแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศพันธมิตรและประเทศที่เป็นหุ้นส่วนของสหรัฐทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย โดยมีเป้าหมายที่จะคานอำนาจจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า สหรัฐต้องการรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แข็งแกร่งกับไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย

"บริษัทอเมริกันจำนวนมากเข้าไปลงทุนในประเทศไทย สหรัฐเองก็มีโครงการทางทหารที่แข็งแกร่งและมีความร่วมมือกับกองทัพของไทย ผมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ที่ผ่านมานั้นการเมืองของไทยไร้เสถียรภาพและมีความซับซ้อน ผมยืนยันว่าเป้าหมายของสหรัฐคือการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพและ เสถียรภาพในประเทศไทย และเราจะร่วมงานกับรัฐบาลไทยนับจากนี้" นายแคมป์เบลกล่าว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ค. 2566 และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองอีก 6 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบริหารประเทศมาตั้งแต่เข้าทำรัฐประหารในปี 2557

อย่างไรก็ตาม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งรวมถึงกรณีการถือหุ้นสื่อ และการที่เขาต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ โดยคาดว่าวุฒิสมาชิกจะเริ่มโหวตรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายในเดือนส.ค.นี้

ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) นายพิธาได้ชี้แจงถึงเรื่องหุ้นบมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ว่าขณะนี้เขาได้โอนหุ้นให้กับทายาทไปแล้ว พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่าเขาไม่ได้กระทำการใดๆที่เป็นการละเมิดกฎระเบียบของการเลือกตั้ง