หลักสูตร กอส.คืออะไร ทางลัดเลื่อนยศฟาสต์แทร็ก สู่ ตร.สัญญาบัตร ?

09 มิ.ย. 2566 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 08:32 น.
1.7 k

เปิดรายละเอียด หลักสูตร กอส.คืออะไร หลังเกิดดราม่าลุกลาม ว่าเป็นทางลัดเลื่อนยศตำรวจแบบฟาสต์แทร็ก สู่ ตร.สัญญาบัตร ?

หลักสูตร กอส.ยังเป็นที่จับตาของสังคม แม้ล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะชี้แจงปมเลื่อนยศ ร.ต.อ.หญิง ว่าเป็นไปตามกฎ ก.ตร. ด้วยวิธีการแต่งตั้งยศ มีคุณวุฒิบรรจุปริญญาโท สามารถเลื่อนเป็น ร.ต.อ.ได้ภายใน 2 ปี และย้ำว่า ตร.ให้ความสำคัญตำรวจชั้นผู้น้อย เปิดสอบแข่งขันเลื่อนเป็นสัญญาบัตรกว่า 880 อัตรา

แต่ล่าสุด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่ ตำรวจหญิงใช้เส้นทางการอบรม กอส.ไปสู่การได้เลื่อนยศจากตำรวจชั้นประทวนเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร แบบ “ฟาสต์แทร็กประดับดาว” แค่อบรม 17 อาทิตย์ เป็นแหล่งรวมลูกหลานคนมีชื่อเสียง 

 

"หลักสูตร กอส." เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 สมัย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีเอกสารเซ็นรับรองเห็นสมควรปรับปรุงประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 11 การศึกษา การฝึกและอบรม บทที่ 14 การฝึกอบรมพื้นฐานสำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

หลักสูตร กอส.คืออะไร ทางลัดเลื่อนยศฟาสต์แทร็ก สู่ ตร.สัญญาบัตร ?

หลักสูตร กอส.เป็น 1 ใน 4 หลักสูตรฝึกอบรมพื้นฐานตำรวจชั้นสัญญาบัตร 

หลักสูตร กอส.เปิดอบรมทุกปีๆ ละ4 ครั้ง หลักสูตรอื่นๆ 

ตำรวจชั้นประทวนมีคุณวุฒิระดับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร หมายถึงตำรวจผู้มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

  • ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาตามระเบียบของทางราชการ
  • ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปศึกษาตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
  • ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาตามความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เข้ารับการฝึกอบรม

ตำรวจชั้นประทวน “บรรจุจากบุคคลภายนอก” บรรจุกลับ หรือโอนมา โดยการบรรจุหรือรับโอนในฐานะมีคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร

ตำรวจชั้นสัญญาบัตร บรรจุจากบุคคลภายนอก หรือโอนข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ หรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บรรจุเป็นตำรวจ หรือบรรจุข้าราชการซึ่ง “ไม่ใช่” ตำรวจ หรือพนักงานของ อปท. กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ

ตำรวจ หากสำเร็จการศึกษาหรือการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานในระดับสัญญาบัตร หรือหลักสูตรอื่นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแล้ว ไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนี้อีก

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรม จะต้องมีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด ไม่ถูกตัดคะแนนความประพฤติเกิน 40 คะแนน และสอบได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

 

คุณสมบัติผู้เข้าเรียนหลักสูตร

  • สอบได้
  • พ่อแม่เป็นตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่
  • ขาดแคลนบุคลากรด้านนั้นๆ เช่น งานเฉพาะทาง
  • ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ เช่น นักกีฬาทีมชาติ

หลักสูตร เรียนอะไรบ้าง

  • หลักสูตร 17 สัปดาห์
  • วิชาการ 16 สัปดาห์ 
  • ภาคสนาม 1 สัปดาห์
  • เรียนวิชาพื้นฐาน 330 ชั่วโมง
  • วิชาเฉพาะ 170 ชั่วโมง

 

  • กฏหมายเบื้องต้นสำหรับตำรวจ
  • กฏหมายอาญาสำหรับตำรวจ
  • กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับตำรวจ
  • กฏหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับตำรวจ
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี
  • งานสารบรรณตำรวจ
  • ฝ่ายอำนาจการตำรวจ
  • การฝึกยุทธวิธีตำรวจ