รู้จัก “เรือหลวงช้าง” ความภูมิใจลำใหม่ “ใหญ่สุด” แห่งทัพเรือไทย

26 เม.ย. 2566 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2566 | 12:39 น.
3.5 k

“เรือหลวงช้าง” เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกลำใหม่ขนาด 2.5 หมื่นตัน ที่ได้ชื่อว่า "ใหญ่ที่สุด" ของกองทัพเรือไทย ในขณะนี้  เดินทางจากอู่ต่อเรือในจีนถึงฐานทัพเรือสัตหีบแล้ว

 

กองทัพเรือ (ทร.) จัดพิธีต้อนรับ “เรือหลวงช้าง” อย่างยิ่งใหญ่วานนี้ (25 เม.ย.) โดยพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธี หลังจากที่เรือหลวงช้าง เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก ลำใหม่ของกองทัพเรือที่สั่งต่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาถึง ณ ท่าเรือจุกเสม็ดฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผบ.ทร. เปิดเผยว่า กองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือหลวงช้างเข้าประจำการเพื่อรองรับภารกิจในการป้องกันรักษาอธิปไตยและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ด้วยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกและสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำตลอดจนถึงการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาสาธารณภัยพิบัติต่างๆ นับเป็นการพัฒนากำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือ

"เรือหลวงช้าง" เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาจากชื่อเกาะช้าง

ที่มาของชื่ออันเป็นมหามงคล

ตามระเบียบของกองทัพเรือนั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย

สำหรับเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดนี้ ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯว่า “เรือหลวงช้าง” (มาจากชื่อเกาะช้าง จ.ตราด)

ยิ่งใหญ่ สง่างาม พร้อมปฏิบัติภารกิจในน่านน้ำ (ขอบคุณภาพจากเพจกองทัพเรือ)

ทั้งนี้ เรือหลวงช้าง เป็นเรือประเภทอเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ มีกำลังพลประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 196 นาย ปัจจุบันมี นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น เป็นผู้บังคับการเรือ

คุณลักษณะที่สำคัญ

คุณลักษณะที่สำคัญของเรือหลวงช้าง คือมีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน ทำให้เรือลำดังกล่าวเป็นเรือมีขนาด “ใหญ่ที่สุด” ของกองทัพเรือไทย (แทนที่แชมป์เก่าคือเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ที่ทร.จัดซื้อจากสเปนและมีระวางขับน้ำ 11,544 ตัน)

เรือหลวงช้าง ใช้งบประมาณในการจัดซื้อ 6,100 ล้านบาท ทำความเร็วสูงสุดได้ 25 น็อต มีองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่

  • ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 1 สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 11 คัน
  • ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 2 สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 9 คัน
  • อู่ลอย สามารถบรรทุกเรือระบายพลขนาดกลาง(LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือรถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) 57 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกได้ถึง 600 นาย

เรือหลวงช้างมีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน

เมื่อเข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการแล้ว เรือหลวงช้าง จะมี ภารกิจหลัก ในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการโดยมี ภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยขีดความสามารถของเรือหลวงช้างลำนี้ จะเพิ่มศักยภาพให้กองทัพเรือในการปฏิบัติภารกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเรืออเนกประสงค์ สามารถปฏิบัติภารกิจหลักที่หลากหลาย อีกทั้งด้วยความที่เป็นเรือยกพลขนาดใหญ่ ทำให้สามารถปฏิบัติการในช่วงที่คลื่นลมแรงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ฝึกการใช้เรือ เพราะมีฐานในการจอดเฮลิคอปเตอร์ถึง 3 ลำ

เรือหลวงช้าง มีฐานในการจอดเฮลิคอปเตอร์ถึง 3 ลำ

ลำใหญ่แต่ประหยัดเชื้อเพลิง

แม้เรือหลวงช้างเป็นเรือใหญ่ แต่เมื่อออกไปปฎิบัติภารกิจตามปกติจะใช้ความเร็วมัธยัสถ์ในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เรือหลวงช้างมีความเร็วสูงสุด 25 น็อตแต่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 น็อต ถ้าเดินเรือด้วยความเร็ว 12 น็อตก็จะใช้น้ำมันไม่มากนัก อาจจะเทียบเท่ากับเรือจักรีนฤเบศหรือเรือหลวงอ่างทองที่มีอยู่

ในอนาคต ทร. ยังมีแผนติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเพิ่มเติมเสริมศักยภาพให้กับเรือหลวงช้าง เช่น ระบบอาวุธ ปืนหลัก ปืนรอง ศูนย์ยุทธการ ระบบตรวจการณ์เรดาร์อากาศ และเรดาร์การควบคุมบังคับบัญชาของเรือผิวน้ำ รวมถึงห้องยุทธการ เป็นต้น โดยจะทำการว่าจ้างบริษัทมาติดตั้งระบบต่าง ๆ ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2567 วงเงิน 950 ล้านบาท ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีและรอสภาฯใหม่พิจารณาเป็นลำดับต่อไป

ขอบคุณภาพจาก เพจกองทัพเรือ Royal Thai Navy