ระวัง โจรออนไลน์ หลอกขาย "แผงโซลาร์เซลล์"

25 เม.ย. 2566 | 21:33 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 22:34 น.

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เตือนประชาชน ระวัง โจรออนไลน์ หลอกขาย "แผงโซลาร์เซลล์" และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ใช้เฟซปลอม ประกาศขายราคาถูก

การติดตั้ง "แผงโซลาร์เซลล์" (Solar Cell) เป็นวิธีการช่วยลดค่าไฟฟ้าที่หลายๆคนให้ความสนใจ แต่เป็นที่ทราบกันว่ามีราคาสูง จึงกลายเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงเหยื่อ ด้วยการหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)ราคาถูก

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) โพสต์เตือนประชาชน ให้ระวังมิจฉาชีพหลอกลวงขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรืออุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเริ่มมีผู้เสียหายหลายรายทยอยเข้าแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์แล้ว

โซลาร์เซลล์

โดยคนร้ายจะสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอม เข้าไปโพสต์ขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามกลุ่มซื้อขายโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ต่างๆ และสร้างเพจซื้อขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ปลอมขึ้นมา โดยจะขายสินค้าในราคาถูกกว่าท้องตลาด ใช้รูปภาพของผู้อื่น และมีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจว่าสินค้าใกล้จะหมด

ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์ ให้แนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างปลอดภัยไว้ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง

2. ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล

3. ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ประกาศขายสินค้าเบื้องต้นว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ มีความเคลื่อนไหวหรือไม่ มีเพื่อนมากน้อยเพียงใด สร้างบัญชีมานานเท่าใด เป็นต้น โดยเพจเฟซบุ๊กจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน และสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้

4. ตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนชื่อขายสินค้าใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ

5. ขอดูภาพหลายๆ มุม นอกจากภาพที่ประกาศขาย สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่

6. ระวังการรีวิวปลอม

7. ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ (ตรวจสอบประวัติร้านค้า : คลิก Blacklistseller , ฉลาดโอน)

8. เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง

9. ควรถ่ายคลิปวิดีโอพร้อมการเปิดกล่องพัสดุดูสินค้า ว่าตรงกับที่สั่งหรือไม่ สินค้าชำรุดหรือไม่

10. ควรปฏิเสธและห้ามชำระเงิน หากมีการนำส่งสินค้าที่ไม่ได้มีการสั่งซื้อ

11. กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ