สุริยุปราคา 2566 กับ “ความเชื่อ” เกี่ยวกับปรากฏการณ์ราหูอมดวงอาทิตย์

20 เม.ย. 2566 | 11:51 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2566 | 15:22 น.
4.1 k

สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส โบราณกาลเรียกว่าปรากฏการณ์ "ราหูอมดวงอาทิตย์" ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์บนฟากฟ้าที่นานๆจะได้ปรากฏแก่สายตาสักครั้ง หรือในชีวิตหนึ่งอาจเห็นเพียงครั้งเดียว จึงมีเรื่องเล่ามากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ

 

ช่วงเช้า วันที่ 20 เมษายน 2566 จะเกิด “สุริยุปราคาบางส่วน" เหนือฟ้าเมืองไทย สังเกตได้ระหว่างเวลาประมาณ 10:22 - 11:43 น. โดยคราสจะบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส (ร้อยละ 4) สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ เห็นได้เพียงบางพื้นที่ของประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ไม่เห็นสุริยุปราคครั้งนี้ สามารถรับชมผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITpage) ได้โดย คลิกที่นี่

นับแต่โบราณกาลมา คนไทยเรามี ความเชื่อ เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือเดิมเรียก “สุริยคราส” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นี้ โดยเรียกว่าเป็น “ราหูอมดวงอาทิตย์”    

คำว่า "คราส" แปลว่า กิน มีความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ว่า เกิดจากเทพองค์หนึ่งชื่อ "ราหู" เกิดความโกรธที่พระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งเป็นเทพเช่นกัน ไปฟ้องร้องต่อพระอิศวรว่า พระราหูกระทำผิดกฎของสวรรค์ คือแอบไปดื่มน้ำอมฤตที่ทำให้ชีวิตเป็นอมตะ พระอิศวรจึงลงโทษให้ตัดลำตัวราหูออกเป็น 2 ท่อน พระราหูจึงทำการแก้แค้นโดยการไล่ "อม" พระอาทิตย์ และพระจันทร์

คำว่า "คราส" แปลว่า กิน คนโบราณเล่าว่า ราหูอม (กิน) ดวงอาทิตย์ด้วยความแค้น จึงต้องช่วยกันทำเสียงดังให้ราหูตกใจและคายออกมา

ดังนั้น เมื่อเกิดสุริยุปราคา (สุริยคราส) หรือจันทรุปราคา (จันทรคราส) ครั้งใด ผู้คนก็จะช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ ตีปี๊บ หรือส่งเสียงดังๆ เพื่อขับไล่พระราหูให้ตกใจและปล่อยหรือคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เสีย นอกจากนี้ คนไทยในสมัยโบราณยังเชื่ออีกว่า สุริยุปราคา จะนำความโชคไม่ดี หรือลางร้ายมาสู่โลกเช่นเดียวกับการมาของดาวหาง

ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติและสาเหตุการเกิดที่แท้จริง ทำให้ผู้คนสมัยโบราณหวาดกลัวสุริยุปราคา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเต็มดวง เพราะท้องฟ้าจะค่อยๆมืดมัว นกกาบินกลับรังแม้ยังเป็นเวลากลางวัน จากนั้นก็ค่อยๆมืดมิด และเมื่อยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดสุริยุปราคา ก็เกิดความเกรงกลัวนึกคิดว่าเป็นการลงโทษจากเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน หรือไปทางไสยศาสตร์

คนจีน ในสมัยโบราณคิดว่า สุริยุปราคา หรือ จันทรุปราคา เกิดจาก “มังกร” ไล่เขมือบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ จึงต้องจุดประทัดและตีกลองไล่ เพื่อให้มังกรคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมาเช่นกัน คล้ายๆกับกรณีพระราหูของไทย

ท้องฟ้าสว่างไสวในตอนกลางวันกลายเป็นกลางคืนไปชั่วขณะหนึ่ง สร้างความตื่นเต้นระทึกใจไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน

ส่วนใน อินเดีย ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับ "ราหู" เช่นกัน  เรียกปรากฏการณ์สุริยุปราคา ว่า Surya Grahan ถือว่าสุริยุปราคาจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง หรือการเริ่มต้น แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทางลบด้วย เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสและความท้าทายที่มาโดยไม่คาดคิด จึงเป็นช่วงเวลาสำหรับการตั้งเป้าหมายหรือการตั้งปณิธาน

ในช่วงที่เกิดคราส ชาวอินเดียจะหลีกเลี่ยงการกิน-ดื่มอาหาร เพราะพลังงานลบจากสุริยุปราคาอาจทำให้อาหารและเครื่องดื่มปนเปื้อนโชคร้าย เมื่อกินเข้าไปก็ไม่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะพลังงานลบจะมีความรุนแรงในที่โล่งแจ้งนอกบ้าน ดังนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านกัน ระหว่างนั้นบางครอบครัวก็จะสวดมนต์ จุดโคมตะเกียง หรือถวายสักการะแด่เทพเจ้าเพื่อปัดเป่าโชคร้ายหรือพลังงานลบไม่ให้มาแผ้วพาน

และเมื่อคราสผ่านพ้นไปแล้ว (พระอาทิตย์ถูกคายออกมาแล้ว) ก็มักจะไปอาบน้ำชำระร่างกาย เพื่อชะล้างพลังงานลบออกไป  

สุริยุปราคากับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

ในประวัติศาสตร์โบราณกาลเคยมีบันทึกเล่าถึงการทำสงคราม กับปรากฏการณ์สุริยุปราคาหรือสุริยคราสที่เลื่องลือที่สุด คือ เมื่อครั้งเกิดสุริยคราสเต็มดวงระหว่างเกิดสงครามเปอร์เซียที่นานยืดเยื้อถึง 6ปี ระหว่างชาวลิเดียกับชาวเมเดส ครั้งนั้นท้องฟ้าสว่างไสวในตอนกลางวันกลายเป็นกลางคืนไปชั่วขณะหนึ่ง เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายตื่นตะลึง และด้วยความยำเกรงในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ในบัดดล จึงตกลงยุติสงครามด้วยการเจรจาสันติภาพ

ในครั้งนั้นเทลิส (Thales) นักดาราศาสตร์และนักปรัชญาชาวกรีกโบราณได้ทำนายการเกิดสุริยุปราคาไว้ก่อนแล้ว แต่ทั้งสองชนชาติอาจไม่รู้ถึงการทำนายดังกล่าว

อีกครั้งเป็นสมัยพระเจ้าหลุยส์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งดินแดนยุโรป พระองค์ถึงกับพิศวงงงงวยเมื่อทอดพระเนตรเห็นปรากฏการณ์บนฟากฟ้าที่ดวงอาทิตย์มืดดับทั้งดวงนานถึง 5 นาทีในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 1383 และหลังจากนั้นพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ เล่ากันว่าคงเป็นเพราะความตกพระทัย ซึ่งต่อมายังเกิดศึกแย่งชิงบัลลังก์ยาวนานถึง 3 ปี มายุติลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ (Treaty of Verdun) ที่แบ่งยุโรปออกเป็นดินแดน 3 ประเทศ ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี นั่นเอง

ความเชื่อแบบนี้ดำเนินมาเป็นเวลานานนับร้อย ๆ ปี จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าและศึกษาถึงการเกิดปรากฏการณ์นี้ และได้อธิบายให้เห็นว่าสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามปรกติ และมนุษย์ยังสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเมื่อใด ที่ไหน และกินเวลานานเพียงใด

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ /วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี/ เว็บไซต์ AstroTalk