ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก คืออะไร 4 เมษายน เตรียมไร้เงาครั้งแรกปี 2566

04 เม.ย. 2566 | 00:00 น.
1.2 k

ทำความรู้จัก ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก คืออะไร วันที่ 4 เมษายน 66 ประเทศไทยเตรียมไร้เงาครั้งแรกของปี 2566 เริ่มทางภาคใต้ อ. เบตง จ. ยะลา

ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 4 เมษายน 2566  ถือเป็นครั้งแรกของปีที่เกิด "ปรากฎการณ์ไร้เงา" โดยในปีนี้เริ่มแรกที่ทางใต้ อ. เบตง จ. ยะลา ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 12:19 น. จากนั้นดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยไล่ลำดับขึ้นเหนือมาเรื่อย ๆ และจะสิ้นสุดที่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 12:17 น.

ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 4 เมษายน 2566

ดวงอาทิตย์ตั้งฉากคืออะไร ?

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า หากสังเกตวัตถุกลางแดดในช่วงดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จะดูเสมือนไร้เงา เงาของวัตถุจะตกอยู่ด้านใต้พอดี การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสม ฯลฯ ที่อาจส่งผลต่ออุณหภูมิ ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุดของปี

เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง คือในช่วงเมษายน-พฤษภาคม และกรกฎาคม-กันยายน โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน 

สำหรับประเทศที่จะมีโอกาสเกิดดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จะเริ่มจากประเทศที่อยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือหรือที่เรียกว่า ทรอปิกออฟแคนเซอร์ (Tropic of Cancer) เป็นตำแหน่งละติจูดเหนือสุดบนโลกที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏตั้งฉากที่จุดเหนือศีรษะ ไปจนถึงประทศที่อยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาใต้เท่านั้น หรือที่เราเรียกว่า ทรอปิกออฟแคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) เป็นตำแหน่งละติจูดใต้สุดบนโลกที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏตั้งฉากที่จุดเหนือศีรษะ

ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก