สมาคมเพื่อนชุมชน-ภาคีเครือข่ายปั้นวิสาหกิจชุมชนสู่อาชีพยั่งยืน

16 มี.ค. 2566 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2566 | 08:09 น.

สมาคมเพื่อนชุมชน-ภาคีเครือข่ายปั้นวิสาหกิจชุมชนสู่อาชีพยั่งยืน หลัง By Nana รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ วางระบบการจัดการทางบัญชี สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโครงการธรรมศาสตร์โมเดล เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ตามบริบทของแต่ละชุมชนโดยเริ่มดำเนินการ ทั้งหมด 7 รุ่น นับตั้งแต่ปี 2559-2565 

ปัจจุบันมี  40 วิสาหกิจชุมชนที่เป็นเครือข่าย ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชน นับเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสมาคมเพื่อนชุมชนกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคีเครือข่าย ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน จนเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปถ่ายทอด เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในจ.ระยอง และต่างจังหวัด

สำหรับ “กลุ่มวิสาหกิจครัวแม่ฉัน By Nana ผู้จำหน่ายลูกสำรอง สมุนไพรและชาดอกไม้เพื่อสุขภาพ”  เป็นหนึ่งในวิสาหกิจที่ได้เข้าร่วมในการอบรม  “ธรรมศาสตร์โมเดล” รุ่นที่ 7/2565   ที่มีความโดดเด่นในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยได้ผ่านกระบวนการบริหารจัดวิเคราะห์เชิงลึก ในพัฒนาผลิตภัณฑ์ และออกแบบใหม่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการขยายตลาด สร้างแบรนด์ให้เป็นรู้จักในวงกว้าง สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
 

นางสาวศุภลักษณ์ สุโภวรวุฒิ รองประธานวิสาหกิจชุมชนครัวแม่ฉัน By Nana กล่าวว่า ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้รับการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะลูกสำรองให้มีความหลากหลายของชนิดสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น มีการวางระบบจัดการกระบวนการผลิต 

และระบบการบัญชีที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มช่องทางจัดหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขาย  ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถยกระดับการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ มีส่วนต่อการสร้างการเติบโตรายได้มากถึง 30-50 %ต่อปี

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค สายรักสุขภาพเป็นอย่างดี  อยู่ในกลุ่มเนื้อสำรองพาสเจอร์ไรส์พร้อมทานแบรนด์ “อิ่มดี” เป็นหนึ่งในความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ครัวแม่ฉัน By Nana ที่วางจำหน่ายได้ทั้งหน้าร้านและระบบออนไลน์  ซึ่งส่วนใหญ่ยอดขายมาจากตลาดออนไลน์ 

อย่างไรก็ดี ยังมีแผนต่อเนื่องในการยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมขอการรับรองทางโภชนาการ และมาตรฐานของ  อย.จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณะสุข

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากลูกสำรองของกลุ่มวิสาหกิจฯ มี 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ลูกสำรองแห้ง เนื้อสำรองพาสเจอร์ไรส์พร้อมทาน น้ำสำรองสเตอริไลส์รสดั้งเดิมและรสน้ำผึ้งดอกคำฝอย วุ้นและเม็ดบับเบิ้ลสำรอง และสำรองผงบรรจุแคปซูล ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็กได้รับโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชิงการค้า  และพร้อมที่จะก้าวสู่มาตรฐานสากลในอนาคต” 

อย่างไรก็ตามโอกาสที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนครัวแม่ฉัน By Nana ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 

  • 1.ด้านกระบวนการผลิต ด้วยการมอบองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวทางด้านอาหารนำมาสู่การบริหารจัดการวัตถุดิบ วิธีการเก็บรักษาให้ได้มาตรฐานและคงคุณภาพลดอัตราการสูญเสียจากการผลิต การแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า
  • ด้านการตลาด วิเคราะห์หากลุ่มเป้าหมายที่ตั้งชื่อแบรนด์ เป็นแบรนด์ “อิ่มดี” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคู่มือการนำเสนอ Content สำหรับเผยแพร่ทางโซเชียลและการจัดทำโปรโมชั่น เพื่อเพิ่มยอดขาย
  • ด้านระบบบัญชี ทางสมาคมเพื่อนชุมชนและนักศึกษาคณะบัญชีจากธรรมศาสตร์ ได้จัดทำแบบฟอร์ม สำหรับการกรอก รายรับ รายจ่าย เพื่อคำนวณหาต้นทุนและกำไร ได้อย่างแม่นยำสำหรับวิเคราะห์วางแผนการลงทุนในอนาคต