รู้จัก "PHISHING" กลลวง "มิจฉาชีพ" แต่ เรียนรู้ - ป้องกันได้

05 มี.ค. 2566 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2566 | 15:21 น.

รู้จัก " PHISHING " (ฟิสซิ่ง) กลลวง มิจฉาชีพ อันตรายยุคใหม่ คนใช้อินเทอร์เน็ตต้องรู้ ศิลปะการหลอกโอนเงินแบบเนียบเนียน ที่คนใช้ อีเมล์ Facebook Twitter มักตกเป็นเหยื่อ แต่เรียนรู้วิธีป้องกันได้ง่ายๆ

5 มีนาคม 2566 - เพจป้องกันภัยออนไลน์ เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เกี่ยวกับ กลลวงของโจรออนไลน์ หรือ มิจฉาชีพ ที่ฮึกเหิมขึ้นทุกวัน และมีคนไทยตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก 

"PHISHING" คืออะไร? 

ทั้งนี้ หลายคนรู้ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก กับคำว่า "PHISHING" หรือ ฟิชชิ่ง หนึ่งในการหลอกลวงทางโลกออนไลน์ที่พบได้บ่อยที่สุด วันนี้ จึงอยากชวนรู้จัก เพื่อเรียนรู้ และ เป็นการป้องกันภัยที่อาจถึงตัวเราในอนาคต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า "PHISHING" คือ การหลอกลวงผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ใช่การล่อลวงธรรมดาที่เราพบเห็นกันทั่วไป แต่จะเป็นการใช้วิธีทางจิตวิทยาเข้าร่วมด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะมาในรูปแบบของอีเมล์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะทำการหลอกให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความลับ ไม่ว่าจะเป็น รหัสผ่าน ,หมายเลขบัตรประชาชน ,เลขที่ Passport รวมไปถึงข้อมูลลับทางการเงิน ทั้งเลขที่บัญชีและรหัสผ่าน หรือจะเป็นการหลอกให้กดยอมรับและติดตั้งไวรัสตัวร้ายเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของตัวเอง

รู้จัก \"PHISHING\" กลลวง \"มิจฉาชีพ\" แต่ เรียนรู้ - ป้องกันได้

มากกว่าการหลอก แต่เป็นศิลปะที่ชวนให้เชื่อ Link เหมือนต้นฉบับ

การ "PHISHING" เป็นการหลอกลวงที่มีศิลปะทำให้เราหลงเชื่อได้ง่ายกว่า โดยส่วนใหญ่จะมาในรูปของอีเมล์แจ้งเตือน ทั้งจากธนาคาร เว็บ Social ที่เราใช้งานกันเป็นประจำอย่าง Facebook, Twitter ที่พอผู้ใช้หลายคนได้เห็นหัวข้อความก็จะเกิดความเชื่อว่าปลอดภัยและยอมทำตามโดยง่าย โดยทั่วไปจะนิยมให้กดที่ Link เพื่อย้ายไปยังหน้าเว็บอื่นเพื่อทำการกรอกข้อมูล แน่นอนว่าเว็บที่ Link พาไปก็จะทำเลียนแบบจนเกือบจะเหมือนกับต้นฉบับ

3 วิธีป้องกัน "PHISHING"

อย่างไรก็ดี มีวิธีเบื้องต้นที่นักท่องอินเตอร์เน็ตอย่างเราๆควรมีวิชาป้องกันตัวไว้ ง่ายๆ 3 ข้อ ดังนี้ 

  1. อย่าคลิก URL หรือดาวน์โหลดไฟล์จากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือน่าสงสัย
  2. ถึงแม้จะรู้จักแหล่งที่มา แต่ต้องเช็กให้ดีอีกครั้งว่าถูกส่งจากแหล่งที่มานั้นจริงหรือไม่ จะกรอกข้อมูลอะไรลงไปในเว็บไซต์ดูให้ดีเสียก่อน
  3. ตรวจสอบประวัติ นำรายละเอียดต่าง ๆ ของ URL หรือชื่อไฟล์ไปสืบค้นใน GOOGLE ก่อน ไม่แน่อาจจะพบประวัติเลวร้ายมากมาย


" นับว่า "PHISHING" คืออันตรายในยุคปัจจุบันที่ทุกคนต้องรู้ให้ทันเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยเราสามารถจะป้องกันได้ด้วยการให้ความระมัดระวังในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น และสังเกตให้ดีว่าอีเมล์หรือ Link ที่เราได้รับมานั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และให้อ่านทุกข้อความโดยละเอียดอย่าใจร้อน ก็จะสามารถช่วยระวังภัยได้ในระดับหนึ่งแล้ว"