ผวา คนไทยเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ ถูกตุ๋นออนไลน์เสียหายวันละ 100 ล้าน

11 ก.พ. 2566 | 13:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 14:10 น.

เปิดข้อมูลน่าตกใจ ตำรวจสอท. พบคนไทยตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ เสียหายวันละ 100 ล้านบาท คนวัย 45 เสี่ยงเจอตุ๋นผ่านแอปหาคู่มากสุด

พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง การหลอกลวงในโลกออนไลน์ ปัญหาโลกแตกกระทบสุขภาพจิต ภายใต้โครงอบรมเชิงปฏิบัติการ นักข่าวพิราบน้อย รุ่นที่ 25 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ขณะนี้ สอท. เป็นห่วงสถานการณ์ภัยไซเบอร์ หลังพบข้อมูลว่าคนไทยถูกหลอกลวงทุกวัน 

คนไทยถูกหลอกวันละ 100 ล้าน

ล่าสุดมีสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 มกราคม 2566 มีเรื่องร้องเรียน 207,678 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 29,244 ล้านบาท 

“ในทุก ๆ วัน ณ เวลานี้ ยังพบว่ามีการหลอกลวงออนไลน์เฉลี่ยวันละ 100 ล้านบาท และคนร้ายกว่า 95% ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น โดยเมื่อเหยื่อถูกหลอกลวงสำเร็จเงินทั้งหมดจะถูกถ่ายโอนไปยังต่างประเทศทันที และตามคืนมาได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งเงินที่ถูกโอนออกไปจะกลับถูกฟอกกลับเข้ามาผ่านการซื้ออสังหาฯ จำนวนมาก”

 

พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ สอท.

 

คนร้ายพัฒนาการหลอกลวง

พ.ต.ท.ธนธัส ระบุว่า ภัยการหลอกลวงทางออนไลน์ปัจุบันมีการพัฒนาไปมาก โดยอาชญากรส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมลักษณะออแกไนซ์ มีทั้งฝ่ายจิตวิทยา ฝ่ายซอฟแวร์ วางแผนการหลอกลวงแบบเป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้คนส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ถูกชักจูงได้ง่าย เช่น การชักชวนให้ลงทุนและมีค่าตอบแทนพิเศษสูงในช่วงแรก 

เตือนคนวัย 45 เสี่ยงหลอกหาคู่

ส่วนปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ ปัจจุบันเป็นภัยไซเบอร์ที่น่าห่วงในประเทศไทย ปัจจุบันปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับเหยื่อที่เป็นผู้หญิงวัย 45 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาครอบครัว หรือผู้ที่มีคู่ครองที่ทำงานหนัก ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานาน คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกคนร้ายเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจ ทำให้สูญเสียตัวตนโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจึงเริ่มเข้ามาผูกพันมากขึ้น และเริ่มหลอกให้โอนเงินไป

พ.ต.ท.ธนธัส ยอมรับว่า ภัยการหลอกลวงหาคู่ในปัจจุบัน มีรายงานคนไทยถูกหลอกเป็นจำนวนมาก คนร้ายมักเข้ามาสืบประวัติของเหยื่อก่อนผ่านโซเชียลมีเดีย ก่อนจะเข้ามาทำความรู้จัก โดยสามารถรับรู้ความชอบ ชีวิตส่วนตัว และสร้างเรื่องราวสมมุติขึ้นให้เหยื่อหลงรักและเจอหลอกลวง 

“เรื่องแอปหาคู่สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมาก เนื่องจากการลงทะเบียนแอป 90% ไม่มีการยืนยันตัวตน ทำให้ตรวจสอบยาก คนร้ายมักขโมยรูปภาพมาสร้างตัวตน สร้างบัญชี และเข้ามาศึกษาข้อมูลเหยื่อจากสื่อที่ใช้แล้วเปิดเป็นสาธารณะ ก่อนเข้ามาขอเป็นเพื่อนคุย ก่อนจะคุยเรื่องที่เหยื่อชอบ ให้รู้สึกว่าตรงใจ หากใครเจอกรณีแบบนี้อยากรู้ว่า นั่นไม่ใช่คนที่พระเจ้าส่งมาให้เรา แต่เป็นเพราะคนร้ายจะศึกษาคน ๆ หนึ่งมาก่อน แล้วสร้างสตอรี่ สร้างเรื่องสมมติขึ้นมา”