เคลียร์ชัดๆ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในมุมนักกฎหมาย อ่านไว้ไม่โดนรังแก

04 ก.พ. 2566 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2566 | 15:23 น.
520

เคลียร์ชัดๆ “บุหรี่ไฟฟ้า” บารากู่ รวมถึงน้ำยา ในมุมนักกฎหมาย หากครอบครองมีความผิดอย่างไร อ่านไว้ไม่โดนรังแก

แม้กรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านเรียกรับเงิน จากนักแสดงสาวชาวไต้หวัน จะนำมาสู่การเอาผิดกับเจ้าหน้าตำรวจดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่สังคมยังคงตั้งคำถามต่อมาจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้คือ การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดหรือไม่ หากมีความผิด จะผิดตามกฎหมายฉบับใด มีโทษอย่างไร 

ฐานเศรษฐกิจ ชวนคุยข้อกฎหมายชัดๆในมุมนักกฎหมาย กับทนายเจษฎา ปิยะสุวรรณวานิช กรรมการเผยแพร่กฎหมาย สภาทนายความ ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ถือเป็นการวางแนวในการพิจารณาคดี

ทนายเจษฎา ตอบคำถามชัดๆ ถึงความผิดฐาน “ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า”ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับใด ระบุความผิดฐาน “ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า” แบบตรงๆ แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่การนำเข้า การจำหน่าย และให้บริการ ตลอดจนการสูบ ซึ่งล้วนมีบทลงโทษ ที่แตกต่างกันออกไป

โดยในปี 2557 กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เพื่อกำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงน้ำยา และสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกันด้วย

ซึ่งการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพาณิชย์นี้ จะมีโทษตามที่ระบุในพระราชบัญญัติศุลกากร เช่น มาตรา 242 ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10ปี หรือปรับ 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว สำหรับการนำเข้า หรือส่งออกสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

มาตรา 244 กำหนดโทษสำหรับผู้ที่พยายามนำเข้า หรือส่งออกของที่ผ่าน หรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากร โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามเกี่ยวกับของนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 10ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจริบของนั้นได้

มาตรา 246 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5ปี หรือปรับ 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยรู้ว่าเป็นของที่มีความผิดตามมาตรา 242 แต่หากรู้ว่าเป็นของที่มีความผิดตามมาตรา 244 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการห้ามจำหน่าย และให้บริการนั้น ได้มีระบุไว้ใน คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่9/2558 ซึ่งรวมถึงน้ำยา และตัวยาด้วย โดยความผิดจากการฝ่าฝืนนั้น ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 46 ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยความผิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่หากจะมีการปรับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะเป็นความผิดฐานสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สามารถเปรียบเทียบปรับที่สถานีตำรวจและปล่อยกลับบ้านได้เลย

กรณี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564 ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดเกี่ยวกับบารากู่  ซึ่งจำเลยเบิกความรับว่า เตาบารากู่เป็นของคนรักของเพื่อนจำเลยนำมาฝากและจำเลยวางไว้โดยไม่ได้ใช้งานนานแล้ว 

ศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ศาลตัดสินว่าผิดฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ปรับ 1,320 บาท)

ทั้งนี้ ทนายเจษฎา มีความเห็นส่วนตัวว่า การที่ไม่มีกฎหมายห้ามครอบครองโดยตรง จึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายโดยอ้อมเช่นนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาโทษสูงเกินส่วน และเป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตได้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยการที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อาศัยอำนาจออกประกาศเป็นการเฉพาะขึ้นได้