ฮือฮา รัฐเล็งออก "กฎหมายป้อง" ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

01 ก.พ. 2566 | 13:24 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 15:47 น.
1.7 k

ฮือฮา มติครม. เห็นชอบหลักการกระทรวงยุติธรรม เสนอออกกฎหมายป้อง ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด หวังสร้างหลักประกันความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่กล้าตัดสินใจปฏิบัติงาน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการ การสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (Law of Efficiency) ตามที่ กระทรวงยุติธรรม เสนอ

โดยเห็นควรให้ศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายกลาง เพื่อเป็นการวางมาตรฐานในการคุ้มครองการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าตัดสินใจในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของราชการและการให้บริการสาธารณะ

ทั้งนี้หลังจากที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการเรื่องนี้แล้ว ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมาย โดยปรึกษาหารือกับคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. เห็นชอบหลักการ ศึกษากฎหมายป้อง ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

สาระสำคัญและเหตุผลความจำเป็น

ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้ศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันพบว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีกฎหมายและระเบียบที่วางหลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก ทำให้การปฏิบัติงานในบางครั้งผิดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการดำเนินงาน

อย่างไรก็ดีการกระทำดังกล่าวอาจกระทำไปด้วยความสุจริต แต่เกิดจากความพลั้งเผลอหรือขาดความรู้ในรายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินงาน โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทางราชการหรือประชาชน

หรือเกิดความเสียหายในลักษณะที่สามารถแก้ไขหรือเยียวยาได้โดยไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นหรือศรัทธาในการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ แต่กลับเกิดประโยชน์ต่อทางราชการหรือประชาชนอย่างชัดเจน 

ส่วนกฎหมายที่มีปัจจุบัน มีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับเฉพาะเรื่องและจำกัดเฉพาะบางหน่วยงาน โดยให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ในระดับที่แตกต่างกันและไม่ครอบคลุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ซึ่งบางหน่วยงานก็ยังไม่มี กฎหมายในเรื่องนี้แต่อย่างใด 

ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยความสุจริต แต่อาจเกิดกรณีที่ปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก และต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยเพียงลำพัง ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม แก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ จนอาจกลายเป็นปัญหาในการบริหารเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงาน

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. เห็นชอบหลักการ ศึกษากฎหมายป้อง ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

หลักการสำคัญของเรื่อง

กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานโดยหน่วยงานของรัฐ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ เช่น ผู้ควบคุมหรือผู้ให้บริการในยานพาหนะที่ทำการขนส่งสาธารณะ 

รวมทั้งบุคคลอื่นซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวในการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับความคุ้มกันไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ในกรณีที่ได้กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบ ภายใต้เงื่อนไขว่า การกระทำผิดนั้นไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือประชาชน หรือเกิดความเสียหายเล็กน้อย แต่ผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ราชการหรือประชาชนได้รับ

กำหนดการดูแลเจ้าหน้าที่รัฐ

กำหนดกลไกในการให้ความช่วยเหลือค่าทนายความ ค่าที่ปรึกษา หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ เช่น ผู้ควบคุม หรือผู้ให้บริการในยานพาหนะ ที่ทำการขนส่งสาธารณะ และผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวจะต้องต่อสู้คดี หรือปกป้องสิทธิของตนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่  

กำหนดให้มีกลไกในการให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการถูกฟ้องร้องหรือร้องเรียน รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายโดยมิชอบ 

กำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์การฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งให้มีกฎไกในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยการสร้างการรับรู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน และการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด