เปิดหลักเกณฑ์ “รถตำรวจนำขบวน” กรณีไหนถึงขอใช้ได้

22 ม.ค. 2566 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 17:40 น.
2.0 k

เปิดหลักเกณฑ์ “รถตำรวจนำขบวน” กรณีไหนถึงขอใช้ได้ หลังเกิดกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนรีวิวเข้าประเทศไทย พร้อมใช้บริการจ่ายเงินจ้างตำรวจนำขบวน จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม

ประเด็นร้อนกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนรายหนึ่ง เผยแพร่คลิปลงในโซเชียลมีเดียรีวิวการมาเที่ยวประเทศไทยแล้วมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยต้อนรับแบบแขกวีไอพี ตั้งแต่เดินทางเข้ามาถึงสนามบิน พร้อมจ่ายค่าบริการพิเศษมี "รถตำรวจนำขบวน" ขับไปส่งถึงที่พัก โดยบรรยายเสียค่าบริการรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจนำทาง 6,000 บาท และรถยนต์นั่งในราคา 7,000 บาท ไว้อย่างเสร็จสรรพ 

หลังปรากฏคลิปดังกล่าวไม่นาน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาระบุว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการด่วนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรตำรวจไทยว่าการกระทำดังกล่าวทำถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามระเบียบหรือไม่

เบื้องต้นมีการพิสูจน์ทราบแล้วว่า บุคคลที่ปรากฎในคลิปเป็นตำรวจจริง 3 นาย โดยเป็นตำรวจท่องเที่ยว 1 ราย และ ตำรวจ บก.จร.2 นาย ซึ่งทางผู้บังคับกองบังคับการท่องเที่ยว และ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

 

"ธนกร" ปัดข่าวคนขับรถมีเอี่ยว ปมรถนำขบวนนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ฐานเศรษฐกิจได้ตรวจสอบรายละเอียดของหลักเกณฑ์ "การใช้รถตำรวจนำขบวน” ซึ่งมีการกำหนดไว้ในหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร. 0205/ว189 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2544 ระบุ หลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง และการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย พบข้อมูลดังนี้

1.การใช้รถตำรวจนำขบวนตามหลักเกณฑ์นี้ หมายถึง การขออนุญาตนำรถยนต์และ รถจักรยานยนต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาใช้ เพื่อนำขบวนยานพาหนะของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ โดยมุ่งหมายที่จะรักษาความปลอดภัยของผู้เดินทางหรือของผู้ใช้รถใช้ถนน อารักขาบุคคลสำคัญ และอำนวยความสะดวกเป็นสำคัญ

ในการใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปนั้น ให้บุคคลผู้มีสิทธิหรือหน่วยงานของ บุคคลนั้น แจ้งขอล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดรถตำรวจนำขบวน โดยให้แจ้งขอตามความจำเป็น ไม่ใช้ ในภารกิจที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ เมื่อสิ้นสุดภารกิจแล้วให้ส่งคืน และให้เจ้าหน้าที่ประจำรถตำรวจ นำขบวนรายงานการสิ้นสุดภารกิจต่อผู้บังคับบัญชา 

ส่วนการใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นประจำ ให้บุคคลผู้มีสิทธิหรือหน่วยงานของบุคคลนั้น แจ้งขอรถตำรวจนำขบวนได้คราวละหนึ่งชุด ไม่ให้มีชุดสำรองอยู่ประจำ เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วให้ส่งคืนทันที ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ประจำรถตำรวจนำขบวนรายงาน การสิ้นสุดภารกิจต่อผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

2. นอกจากขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ขบวนเสด็จพระดำเนิน และขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีรถตำรวจนำขบวนตามปกติประเพณีแล้ว บุคคลสำคัญอื่น ๆ สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้เป็นประจำหรือเป็นครั้ง ๆ ไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

ในเขตกรุงเทพมหานคร : ให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นประจำได้สำหรับบุคคล ดังนี้

  • ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ
  • นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) รองประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธาน ศาลปกครองสูงสุด
  • สมเด็จพระสังฆราช
  • รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและมีอำนาจหน้าที่ติดตามการปฏิบัติราชการในเขตพื้นที่ต่าง ๆ 
  • ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในเขตกรุงเทพมหานคร : ให้ผู้บังคับการตำรวจจราจร หรือผู้ได้รับมอบหมาย จากผู้บังคับการตำรวจจราจรมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปตามความจำเป็น แห่งโอกาสสำหรับบุคคล ดังนี้

  • ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
  • องคมนตรี
  • ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ
  • ขบวน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้รถตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัยของขบวน หรือความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน ขบวนรถ ซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการ ขบวนที่มีรถหลายคัน หรือเป็นกรณีมีความจำเป็น เร่งด่วนของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในทางราชการเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญของทางราชการ

 

ภาพประกอบข่าว รถตำรวจนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน


นอกเขตกรุงเทพมหานคร : ให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นประจำโดยปกติได้สำหรับบุคคล ดังนี้

  • ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ
  • นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) รองประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
  • สมเด็จพระสังฆราช
  • รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน และมีอำนาจหน้าที่ติดตามการปฏิบัติราชการในท้องที่ต่าง ๆ
  • ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นอกเขตกรุงเทพมหานคร : ให้ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง หรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปตามความจำเป็นแห่งโอกาสสำหรับบุคคล ดังนี้

  • ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
  • องคมนตรี
  • ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ
  • ขบวน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้รถตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัยของขบวน หรือความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน ขบวนรถซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการ ขบวนที่มีรถหลายคัน หรือเป็นกรณี มีความจำเป็นเร่งด่วนของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในทางราชการเพื่อเดินทางไปปฏิบัติ ภารกิจสำคัญของทางราชการ

อย่างไรก็ตามการใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลข้างต้นให้ใช้กับผู้รักษาราชการแทน ผู้รักษาการแทน ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เทียบเท่าโดยอนุโลม

นอกจากนี้ยังมีกรณีการใช้รถตำรวจนำขบวนในราชการและภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาอนุญาตเป็นราย ๆ ไป ตามความจำเป็นแก่กรณี ทั้งนี้ ให้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้มีรถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปสำหรับบุคคลสำคัญ ชาวต่างประเทศที่เป็นแขกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้

สำหรับการใช้รถนำขบวนของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ใช้รถนำขบวนของฝ่ายทหารเอง โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการใช้ไฟสัญญาณของฝ่ายตำรวจโดยอนุโลม 

อย่างไรก็ตามเกณฑ์ดังกล่าวยังกำหนดให้กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์นี้โดยเคร่งครัด และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำบัญชีแสดงรายการการขอใช้รถตำรวจ นำขบวนไว้เพื่อการตรวจสอบด้วย สำหรับการใช้รถตำรวจนำขบวนที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมตินี้