คำเตือน ! นักเศรษฐศาสตร์ ส่งสัญญาณสารพัดต้นเหตุฉุด “เศรษฐกิจโลก”

10 ม.ค. 2566 | 00:15 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2566 | 23:34 น.

ส่องคำเตือน ! นักเศรษฐศาสตร์ ที่ส่งสัญญาณสารพัดปัญหาซึ่งเป็นต้นเหตุที่คาดว่าจะฉุด “เศรษฐกิจโลก” ทั้งอัตราดอกเบี้ย ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์

กระแสลมเศรษฐกิจโลกปี 66 มีความไม่แน่นอน แม้ดูเหมือนจะผ่านมรสุมใหญ่อย่างโควิดกันมาได้ในปี 2565 แต่ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์  สำหรับประเทศไทยในปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยอาจกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด แม้เสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยก็ตาม 

 

ฝ่ายวิจัยกรุงศรี คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังเติบโตต่อเนื่อง 3.6 % จาก  3.2 % ในปี 2565 มีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว  ที่ขณะนี้การเดินทางมาของนักท่องเที่ยวจีน คาดว่าจะมาไทย 7-10 ล้านคน แต่ถึงอย่างนั้น ภายใต้การฟื้นตัวดังกล่าว ยังมีความเสี่ยงใหญ่และความไม่แน่นอนอีกมากรออยู่ข้างหน้า

“เศรษฐกิจโลกไปสู่ยุคที่ยากลำบากมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน”

 

เป็นข้อความส่วนหนึ่งจากการประชุมประจำปีของสมาคมเศรษฐกิจอเมริกันในนิวออร์ลีนส์ สะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์กังวลกับอันตรายข้างหน้าสำหรับการเติบโตทั่วโลก

 

การประชุมครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เคนเนธ โรกอฟฟ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  คริสติน ฟอร์บส์ อดีตผู้กำหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป

 

เงินเฟ้อ

นักลงทุนมีความหวังมากขึ้น กับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed กดเงินเฟ้อที่สูงมาก หุ้นและคลังปรับตัวขึ้นหลังรายงานการจ้างงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างลดลงในเดือนที่แล้ว ขณะที่การว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

 

เดวิด โรเมอร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ บอกว่า ที่ผ่านมาเรามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยช่วงของผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในปีหน้าหรือ 2 ปีข้างหน้าจะกว้างมาก

 

ราฟาเอล บอสติค ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา สะท้อนว่า ธนาคารกลางยังจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าค่าจ้างจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ เพราะสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

หนี้ภาครัฐ

คริสติน ฟอร์บส์ อดีตผู้กำหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ บอกว่า หนี้ภาครัฐที่ก่อตัวขึ้นได้เพิ่มความเสี่ยงของวิกฤตการคลัง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดของการแพร่ระบาดทำให้ฟองสบู่สินทรัพย์อาจแตกได้ 

 

ข้อมูล : bloomberg