ความหวัง“จีนเปิดประเทศ” ฟื้นเศรษฐกิจไทย โอกาสหรือความเสี่ยง?

06 ม.ค. 2566 | 19:47 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2566 | 03:48 น.

“จีนเปิดประเทศ” เริ่ม 8 ม.ค.2566 เป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจไทย ฟังมุมมองจากนักวิชาการทีดีอาร์ไอ มีทั้งมุมบวกและลบ

ยังคงต้องจับตา “จีนเปิดประเทศ” โดยเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566  นานาประเทศต่างก็เร่งออกมาตรการ คัดกรองนักท่องเที่ยวจากจีนกัน เพราะกังวลว่านักท่องเที่ยวจีนจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ สัปดาห์นี้จึงเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการคุมเข้มการเดินทางในผู้ที่เดินทางออกจากประเทศจีน ทั้งการสุ่มตรวจเชื้อและบังคับดูผลตรวจเชื้อเป็นลบก่อนออกเดินทาง

สำหรับรัฐบาลไทย ไม่มีมาตรการเพิ่มเติมต่อนักท่องเที่ยวจีน ย้ำหลักปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวทุกประเทศเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ซื้อประกันสุขภาพ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าพร้อมปรับมาตรการหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

 

ขณะที่ล่าสุด แอร์ไลน์เพิ่มไฟลต์บินเข้าไทย  “เซียะเหมิน แอร์ไลน์ส” ประเดิมเที่ยวบินแรก 9 ม.ค. เส้นทาง เซียะเหมิน-กรุงเทพฯ  มีผู้โดยสารเดินทางมาเต็มลำประมาณ 200 คน 

ในมุมของ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ มองว่า จีนเปิดประเทศ มีทั้งมุมบวกและลบ ที่มีทั้งโอกาสเเละความเสี่ยง  ในมุมบวก คือ การเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจภายในจีน และเศรษฐกิจภายนอกที่เชื่อมกับจีน เช่น การค้าขาย นำเข้า-ส่งออก และภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้น ผลต่อเศรษฐกิจโลกจะขึ้นกับว่ามีการเชื่อมโยงกับจีนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเทศน่าจะดีเพราะมีทั้งการค้าขายสูง และตัวเลขนักท่องเที่ยวจำนวนมาก 

 

ส่วนในด้านลบมีอยู่ 2 มิติ ที่ต้องพิจารณา คือ ด้านความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด ว่าจะกลับมาในวงกว้างขนาดไหนและการเปิดประเทศของจีนจะนำไปสู่ความต้องการสินค้า บริการ และพลังงานมากแค่ไหน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาค่าครองชีพสูงอีกหนึ่งปี 

 

สำหรับประเทศไทยมีสิ่งที่จะต้องพิจารณาเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ คือ เน้นส่วนที่เสี่ยงต่ำ เช่น การส่งออกหนุนไปจีนให้มากขึ้น ทดแทนการชะลอตัวของประเทศอื่นๆในโลก ส่วนภาคท่องเที่ยวควรวางมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม

 

“ต้องไม่ลืมว่าถ้าเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างก็จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น พนักงานบริษัท แรงงานต้องหยุดรักษาตัว แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรง สถานพยาบาลสามารถรองรับได้ดีพอ ไม่กระทบต่อการรักษาโรคอื่นๆ หรือคุณหมอ และคุณพยาบาลต้องโดนกักตัว”

 

ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ต้องมีแผนรับมือ 2 ด้าน คือ การจัดการวิกฤติถ้าเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้งจะดูแลลูกค้า ดูแลพนักงานอย่างไร และในด้านของการรองรับความต้องการใช้บริการที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก แต่ทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แรงงาน" มีพร้อมหรือยัง

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ควรเข้ามาในระดับที่เหมาะสม ไม่เร็วจนเกินไป ตัวเลขการครองเตียงของโรงพยาบาลและตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด ตัวเลขเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาพลังงาน และตัวเลขการส่งออกไปจีนที่ควรกลับมาช่วยพยุงภาคส่งออกในภาพรวมของปีนี้