22 ธันวาคม 2565 "วันเหมายัน"เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

22 ธ.ค. 2565 | 12:50 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 19:54 น.

22 ธันวาคม 2565 "วันเหมายัน"หรือตะวันอ้อมข้าว เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี เป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูร้อนในซีกโลกใต้

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” 

 

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่แตกต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้

 

ตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในรอบปี

 

สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด และเวลากลางคืนยาวนานที่สุด 

สำหรับวันเหมายันในปี 2565 ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:55 น. รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที นอกจากนี้ วันเหมายันยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้นั้นจะนับเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อน

 

การเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์บนระนาบสุริยะวิถี

 

สำหรับ “ฤดูกาล” เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง

 

จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางวัน

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต เป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

 

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ