ตะลึง จนท.รัฐส่อเอี่ยว ลักไฟหลวงขุดบิทคอยน์ สูญ 50,000 ล้านบาท

09 ธ.ค. 2565 | 18:42 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 02:03 น.
2.6 k

ดีเอสไอ ทลายขบวนการ ลักไฟหลวงขุดบิทคอยน์ ทำรัฐสูญ 50,000 ล้านบาท ตะลึง จนท.รัฐส่อเอี่ยว ขยายผลตรวจสอบ ศุลกากร - การไฟฟ้า

จากยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด หรือ ปฏิบัติการ “Electrical Shock” ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 นำโดยนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษสนธิกำลังร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นจุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล 41 จุด ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท

 

สืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้องเรียน ว่ามีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์โดยผิดกฎหมาย มีการนำเครื่องมือที่ใช้ในการขุดบิทคอยน์มาจากต่างประเทศ และมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากขนาดเทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรม โดยการต่อไฟตรงไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาเพื่อเข้าค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัย จำนวน 41 แห่ง  ซึ่งเช่าไว้เพื่อใช้เป็นจุดวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล สามารถยึดเครื่องขุดเงินดิจิทัลกว่า 2,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท โดยเครื่องขุดเงินดิจิทัล จะถูกวางไว้ในแต่ละอาคารจุดละประมาณ 100 เครื่อง 

 

ลักไฟหลวง ขุดบิทคอยน์

 

การลักลอบใช้ไฟฟ้าเพื่อขุดเงินดิจิทัลเช่นนี้ ทำให้เสียค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 500,000 บาทต่อแห่ง แต่มีการจ่ายค่าไฟจริงเพียงแห่งละประมาณ 300 - 2,000 บาทเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละเกือบ 300 ล้านบาท  

ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกับกรมศุลกากรด้วยว่า มีการนำเข้าราชอาณาจักรไทย โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีการนำเข้าเครื่องขุดเงินดิจิทัลมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประขาชนจีน มาติดตั้งในอาคารพาณิชย์ที่มีค่าเช่าในราคาไม่สูงนัก 

 

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอสออนไลน์ยืนยันว่า

ทางดีเอสไอ ได้ส่งข้อมูลให้การไฟฟ้าแล้ว เพราะหากคำนวณมูลค่าความเสียหาย เฉพาะส่วนที่ตรวจพบ เป็นการลักไฟเพียงแค่ 1% เสียหายถึง 500 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งหากเกิดความเสียหาย 100% จะมีมูลค่าความเสียหายถึงปีละ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่คุมระบบจะไม่ทราบหรือ

 

ทั้งนี้ พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ยังไม่อยากไปตั้งข้อสงสัย หรือข้อกล่าวหา แต่ว่าเรากำลังมองในระบบอยู่ว่า ระบบใหญ่ของเขาทำงานแบบไหน หากสายไฟเส้นนี้จ่ายไฟเข้าระบบหมู่บ้าน และปกติรับโหลดเท่านี้แอมป์ หากถูกลักไฟแล้วโหลดมันเพิ่มขึ้นการไฟฟ้าจะทราบหรือไม่ เราต้องไปดูระบบของเขา แต่ประเด็นคือ พอมีการดึงไฟออกไป ไฟบางเส้นเกินโอเวอร์โหลดและมีไหม้ด้วย สิ่งที่เรากลัวที่สุดคืออัคคีภัย ส่วนกรณีการนำเข้าเครื่องขุดบิทคอยน์นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ดีเอสไอประสานกับกรมศุลกากรให้ช่วยตรวจสอบแล้วว่า มีการนำเข้าที่ถูกกฎหมาย หรือลักลอบนำเข้า 

ลักลอบใช้ไฟหลวง ขุดบิทคอยน์

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า การลักไฟหลวงเพื่อขุดบิตคอยน์คนทำจะต้องมีความรู้เรื่องระบบไฟฟ้าดีมากๆ ไม่เช่นนั้นเขาทำไม่ได้ เขาต้องจั๊มไฟสายเมน เพราะไฟที่จั๊มส่วนใหญ่จะต้องจั๊มไฟสามเฟส เพราะต้องมีการเฉลี่ยปริมาณการใช้ไฟแต่ละเส้น ซึ่งเครื่องขุดแต่ละเครื่องจะกินไฟไม่เท่ากัน พอขุดเสร็จแล้วต้องเอามารวบรวม แล้วคำนวนออกมาเป็นบิทคอยน์ จากนั้นจะส่งกลับเข้าไปเก็บไว้ในวอลเลต ซึ่งตรงนี้จะมีคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมสั่งการอยู่อีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่บ้านของผู้ควบคุมระบบ จุดที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจค้นเจอ 

 

นอกจากนั้น ยังเป็นข้อสังเกตของดีเอสไอ และรมต.ยุติธรรมด้วยว่า ความเสียหายจากการลักลอบใช้ไฟฟ้านั้น นอกจากความสูญเสียในระบบแล้ว ค่าเอฟทีที่ถูกคำนวณเพิ่มขึ้นมานั้น เป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่