ทำความรู้จัก สัตว์ชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทยล่าสุด 4 ชนิด คลิกที่นี่

02 ธ.ค. 2565 | 08:00 น.
3.0 k

รู้จักกับสัตว์ชนิดใหม่ของโลก "มดชุติมา -แตนเบียนปิยะ- แตนเบียนสะแกราช -โคพีพอด" หลังไทยประกาศค้นพบในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา

จากกรณีที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ มดชุติมา , แตนเบียนปิยะ, แตนเบียนสะแกราช และโคพีพอด ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้สำคัญถึงความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ของประเทศไทยนั้น พาไปทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดใหม่ของโลกทั้ง 4 ชนิดกันให้มากขึ้น 

 

"มดชุติมา"  

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepisiota chutimae Jaitrong, Waengsothorn et Buddhakala, 2022 

ค้นพบโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิจัย จาก อพวช. และ ผศ.ดร.นพรัตน์ พุทธกาล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บริเวณยอดไม้สูงประมาณ 25-30 เมตร ในป่าดิบแล้งที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของมดบนเรือนยอดไม้บริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา


สำหรับชื่อ "มดชุติมา" นั้น ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ในฐานะเป็นหน่วยงานดูแลพื้นที่และสนับสนุนงานวิจัยทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแข็งขัน 

ลักษณะเด่นของ "มดชุติมา"

มีสีเหลืองทองตลอดทั้งตัว (ท้องมีสีเข้มกว่าอกเล็กน้อย) ผิวตัวเรียบเป็นเงามัน ท้ายส่วนอกและเอวมีหนามแหลม มดชนิดนี้เป็นดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์ของป่าดิบแล้งสะแกราชได้อีกทางหนึ่ง ในประเทศไทยมีมดในสกุล Lepisiota จำนวน 8 ชนิด อาศัยอยู่บนดิน ยกเว้นเพียง "มดชุติมา" เท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้ซึ่งเหตุผลในการปรับตัวที่แปลกไปจากมดชนิดอื่นในสกุลเดียวกันนั้นอยู่ระหว่างค้นหาคำตอบของนักวิจัย

 

"มดชุติมา" ค้นพบโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิจัยจาก อพวช. และผศ. ดร.นพรัตน์ พุทธกาล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

อย่างไรก็ดี ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ลานีญา (ฝนตกชุก) ติดต่อกัน 2 ปี ทำให้โครงสร้างประชากรมดเรือนยอดเปลี่ยนแปลงไป มีมดรุกรานยึดครองพุ่มไม้มากขึ้น ในอนาคตอันใกล้อาจส่งผลกระทบต่อการลดลงของประชากร "มดชุติมา" และมดถิ่นเดิมชนิดอื่น ๆ ได้ หากไม่มีมาตรการป้องกันหรือการจัดการที่เหมาะสม สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Far Eastern Entomologist

"แตนเบียนปิยะ" และ "แตนเบียนสะแกราช" 

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physaraia sakaeratensis Chansri, Quicke & Butcher, 2022 

ค้นพบโดย รศ.ดร.บัณฑิกา อารีย์กุล บุทเชอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณป่าดิบแล้งของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ด้วยกันกับ ดักเต็นท์ หรือ Malaise Trap 

 

ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากแตนเบียนสกุล Physaraia ชนิดอื่น คือ หนามคู่ที่ส่วนท้องของลำตัวมีสีดำ ในขณะที่ชนิดอื่นหนามบริเวณนี้จะเป็นสีเดียวกับลำตัว โดยบริเวณปลายของส่วนท้องที่มีหนามคาดว่าจะช่วยในการวางไข่ของแตนเบียนเพศเมีย

 

ทั้งนี้ แตนเบียนเป็นแมลงในอันดับ Hymenoptera เช่นเดียวกันกับ ผึ้ง ต่อ และแตนชนิดอื่น ๆ อวัยวะวางไข่ของแตนเบียนเพศเมียไม่ได้มีไว้สำหรับต่อย แต่มีไว้ใช้วางไข่ในแมลงให้อาศัย (host) เมื่อแตนเบียนเพศเมียวางไข่แล้ว ตัวหนอนของแตนเบียนจะกัดกินแมลงให้อาศัยเป็นอาหาร ก่อนจะเจริญเป็นดักแด้และแตนเบียนตัวเต็มวัยต่อไป 

 

ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างแตนเบียนและแมลงให้อาศัย ทำให้แตนเบียนหลายชนิดถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมประชากรของแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี (biological control) โดยในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ธรรมชาติ แตนเบียน นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อสมดุลของประชากรแมลงในระบบนิเวศ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพรในวารสารวิชาการ Zootaxa เรื่อง Four new species of Physaraia (Hymenoptera: Braconidae: Braconinae) from Thailand

 

"แตนเบียนปิยะ - แตนเบียนสะแกราช" ค้นพบโดย รศ.ดร.บัณฑิกา อารีย์กุล บุทเชอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยกันกับ ดักเต็นท์ หรือ Malaise Trap

 

โคพีพอด(Copepods)

มีชื่อวิทยาศาสตร์  Metacyclops sakaeratensis Athibai,Wongkamhaeng & Boonyanusith, 2022

ค้นพบโดย ผศ.ดร.ชายฉัตร บุญญานุสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนจากสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชและศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการศึกษาความหลากหลายของแพลงก์ตอนสัตว์ ค้นพบบริเวณถ้ำงูจงอาง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชเป็นพื้นลำธารที่เป็นลานหิน มีแอ่งน้ำนิ่งสลับกับน้ำไหล 

 

ลักษณะเด่น 

1.ปลายของขาว่ายน้ำคู่ที่ 4 มี spine 1 อัน 
2. ด้านข้างของ caudal ramus มีหนาม
3. ปล้องสืบพันธุ์มีร่องตามขวางทางด้านหลัง 

ทั้งนี้ ชนิดใหม่ของโลกจากสะแกราช มีลักษณะคล้ายกับเครือญาติจากกัมพูชา แต่ชนิดจากกัมพูชาไม่มีลักษณะในข้อ 3. คือ ร่องตามขวางทางด้านหลังของปล้องสืบพันธุ์

 

สำหรับโคพีพอด เป็นหนึ่งในแพลงก์ตอนสัตว์ ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศแหล่งน้ำ มีความหลากหลายของสายพันธุ์สูง มีลักษณะคล้ายคลึงและอยู่ในตระกูลเดียวกับ กุ้ง ไรน้ำ สามารถพบโคพีพอดในแหล่งน้ำทั่วไปของประเทศไทย ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

 

โคพีพอดถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปลาทะเล กุ้งสวยงาม นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร โดยเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นตัวบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ

โคพีพอด(Copepods) ค้นพบโดย ผศ.ดร.ชายฉัตร บุญญานุสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏนครราชสีมา

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เป็นหน่วยงานดูแล ตั้งอยู่ในเขตอำเภอปักธงชัยและอำเภอวังน้ำเขียว มีพื้นที่ 78.08 ตารางกิโลเมตร (48,800 ไร่) ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere reserve) ภายใต้โครงการ Man and Biosphere program (MAB) ขององค์การ UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2519

 

นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีนโยบายและแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในการเป็นห้องปฏิบัติการศึกษาวิจัยทางด้านธรรมชาติของป่าไม้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนในการพึ่งพาอาศัยได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติของคนในท้องถิ่น

 

ปัจจุบันสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมี นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก รวมถึงนักวิจัยและอาสาสมัครวิจัยจากภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามาวิจัยในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชไม่น้อยกว่า 980 ราย จาก 37 ประเทศ มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 832 เรื่อง โดยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ 439 เรื่อง วิทยานิพนธ์และรายงานการวิจัย 339 เรื่อง และการนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการ 54 เรื่อง

 

นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดปีละ 146,094 ตัน ประกอบด้วย 

  • ป่าดิบแล้ง พื้นที่ 26,474 ไร่ ดูดซับได้ 3.26 ตันต่อไร่ต่อปี หรือปีละ 86,305 ตัน 
  • ป่าเต็งรัง พื้นที่ 7,373 ไร่ ดูดซับ 2.84 ตันต่อไร่ต่อปี หรือปีละ 20,939 ตัน 
  • ป่าปลูก พื้นที่ 12,028 ไร่ ดูดซับได้ 3.23 ตันต่อไร่ต่อปี หรือปีละ 38,850 ตัน

 

บรรยากาศวันแถลงข่าวการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก 4 ชนิดในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช