ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง

24 ต.ค. 2565 | 17:17 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2565 | 00:34 น.
3.0 k

“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบเจอบริเวณเขาช่อง จังหวัดตรัง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าขอแสดงความยินดี "ส้มแก้วสมคิดพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบบริเวณเขาช่อง จังหวัดตรัง 

 

ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง
 
  
ค้นพบและตั้งชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ส้มแก้วสมคิด Garcinia siripatanadilokii Ngerns., Meeprom, Boonth. , Chamch. & Sinbumr. 
ชื่อไทย “ส้มแก้วสมคิด” และคำระบุชนิด (specific epithet) “siripatanadilokii”

ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมคิด สิริพัฒนดิลก ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้ของประเทศไทย เช่น กายวิภาคศาสตร์ไม้ต้น (Anatomy of Trees) สรีรวิทยาไม้ต้น (Physiology of Trees) การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue Culture) ไมโครเทคนิคพืช (Plant Microtechniques) ชีววิทยาป่าไม้ภาคสนาม (Field Forest Biology) อาจารย์เป็นผู้ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทในการสอนหนังสือ มีความเป็นครูสูงมาก สนับสนุนและส่งเสริมลูกศิษย์ จึงเป็นที่เคารพ รัก และศรัทธาของลูกศิษย์

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ผู้ดำเนินการหลักงานวิจัยและค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานพืชสกุล Garcinia L. (Clusiaceae) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) 

 

ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง

 

ผลงานวิจัยเรื่อง “Garcinia siripatanadilokii(Clusiaceae), a new species from Peninsular Thailand” ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Kew Bulletin เผยแพร่ออนไลน์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565

ส้มแก้วสมคิด Garcinia siripatanadilokii Ngerns., Meeprom, Boonth., Chamch. & Sinbumr วงศ์ Clusiaceae (Guttiferae)
ชื่ออื่น ๆ ส้มแก้ว (สตูล)

 

ส้มแก้วสมคิดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูง 2–4 ม. เส้นรอบวง 7–15 ซม. กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากตามแนวนอน กิ่งย่อยเป็นสี่เหลี่ยม สีน้ำตาลเข้ม เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลเข้ม เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน ส่วนต่าง ๆ มีน้ำยางสีเหลือง เหนียว ตายอดอยู่ในซอกก้านใบที่ปลายกิ่ง

 

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.6–4.7 ซม. ยาว 6–13.3 ซม. ปลายยาวคล้ายหางหรือเรียวแหลม โคนสอบเรียวเล็กน้อย ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง หยิกย่นเล็กน้อย ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน มีต่อมเป็นจุดสีดำเล็กน้อยทางด้านล่าง 

 

ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง


บางครั้งพบทั้ง 2 ด้าน เส้นกลางใบนูนทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 4–9 เส้น ปลายโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปเป็นวงรอบใกล้ขอบใบและเป็นเส้นขอบใน แบนทางด้านบน นูนเล็กน้อยทางด้านล่าง มีเส้นใบระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหละเอียด เห็นชัดทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 4–8 มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.7 มม. เป็นร่องทางด้านบน บิด เกลี้ยง โคนก้านใบมีรยางค์ขนาดเล็กประกบกิ่ง ใบอ่อนสีแดง สีแดงแกมสีเขียวอ่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบของใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีแดงแกมสีเขียวอ่อน ใบสดเปราะเมื่อขยี้ ใบแก่ก่อนร่วงสีเหลือง

 

ดอกแยกเพศต่างต้น ไม่พบดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่ง ดอกบานเต็มที่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7–1 ซม. มีลักษณะเป็นช่องเปิดที่ปลายดอก ใบประดับ 4 ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก สีเขียวอ่อน ต่อมาเปลี่ยเป็นสีเหลืองอ่อน ร่วงง่าย คู่ยาวรูปใบหอก กว้าง 0.8–1.3 มม. ยาว 3–5 มม. ปลายแหลม คู่สั้นรูปสามเหลี่ยมแคบหรือรูปใบหอก กว้าง 0.8–1.2 มม. ยาว 1.5–3 มม. ปลายแหลม ก้านดอกสีเขียวอ่อน 

 

ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ยาว 2.5–4 มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 มม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีลักษณะเป็นแอ่ง กลีบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง กลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อน กึ่งรูปวงกลม กว้าง 4–6.5 มม. ยาว 4.5–7 มม. คู่นอกเล็กกว่าคู่ในเล็กน้อย ปลายมนกลม กลีบดอกสีเหลืองอ่อน กึ่งรูปวงกลม กว้าง 5–7 มม. ยาว 5.5–7.5 มม. ขนาดเกือบเท่ากัน ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 4–7 เกสร ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 มม. 

 

ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง

 

โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันอยู่รอบโคนรังไข่ อับเรณูกว้าง 0.5–0.8 มม. ยาวประมาณ 0.5 มม. เกสรเพศเมียรูปเห็ด ยาว 3–4 มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวอ่อน กึ่งรูปทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.8–3.5 มม. เป็นพูตื้นมากหรือเห็นไม่ชัด มี 8–11 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียสีขาวนวล นูน เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4.5 มม. เป็นแฉกตื้นตามรัศมี 8–11 แฉก มีปุ่มเล็ก

 

ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด กึ่งรูปทรงกลมหรือรูปทรงกลมแป้น กว้าง 2.8–4.5 ซม. ยาว 2.7–3.8 ซม. มักไม่สมมาตร ไม่เป็นพู (ผลอ่อนเป็นพูตื้นมากหรือเห็นไม่ชัด) ปลายผลมีลักษณะเป็นแอ่ง ผลสีเขียว สุกสีเหลืองอมเขียวอ่อน สุกเต็มที่สีเหลืองสด เกลี้ยง เป็นมัน ผนังผลหนา 4–6.5 มม. ปลายผลมียอดเกสรเพศเมีย ติดทน สีน้ำตาลเข้ม แบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 มม. เป็นแฉกตื้นตามรัศมี 8–11 แฉก มีปุ่มเล็ก

 

ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง

 

โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่กว่าในระยะดอก สีเขียวอ่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อนและสีเหลืองอ่อนในระยะผลสุก ก้านผลยาว 2–3.5 มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3.5 มม. มีเมล็ด 1–4 เมล็ด สีน้ำตาล แบน รูปไต กว้าง 6–9 มม. ยาว 1.2–1.5 ซม. หนา 2.7–3.8 มม. ปลายมนทั้ง 2 ด้าน เปลือกเมล็ดชั้นนอกเป็นเนื้อนุ่ม สีขาว พบบ่อยที่มีเมล็ดฝ่อ
 

ส้มแก้วสมคิดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศทางภาคใต้ ที่จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดนราธิวาส พบในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 50–200 ม. ออกดอกและเป็นผลมากกว่า 1 ครั้ง ออกดอกเดือนตุลาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศคาดว่าพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย สถานภาพการอนุรักษ์ จัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ (endangered) 

 

ประโยชน์ ผลรับประทานได้ ผนังผล เปลือกเมล็ดชั้นนอกเป็นเนื้อนุ่ม ยอดอ่อน ใบ และดอกมีรสเปรี้ยว มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ

 

จากการสำรวจและศึกษาไม่พบต้นเพศผู้ พบเฉพาะต้นเพศเมีย คาดว่าพรรณไม้ชนิดนี้มีรังไข่ที่เจริญเป็นผลได้โดยไม่มีการปฏิสนธิ (apomictic fruit) 

 

ค้นพบ“ส้มแก้วสมคิด” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตรัง

 

ส้มแก้วสมคิด (Garcinia siripatanadilokii) มีลักษณะคล้ายกับมะแปม (Garcinia lanceifolia) เกี่ยวกับลักษณะวิสัย (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นเล็ก) จำนวนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก (อย่างละ 4 กลีบ) ลักษณะยอดเกสรเพศเมีย (ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกตื้นตามรัศมี มีปุ่มเล็ก) ใบสดเปราะเมื่อขยี้ ผลและใบมีรสเปรี้ยว 


ประวัติการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก

 

ดร.อาเธอร์ คาร์ (Arthur Francis George Kerr) หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘หมอคาร์’ พบและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้ครั้งแรกบริเวณคลองทอน จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2471 เป็นตัวอย่างที่มีผล (A. F. G. Kerr 14580) ต่อมา Sarmrong เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณเขาช่อง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2512 เป็นตัวอย่างที่มีผล (Sarmrong 35) ต่อมา ดร.เชาวลิต นิยมธรรม เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณน้ำตกสิรินธร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 เป็นตัวอย่างที่มีผล (C. Niyomdham 6495) 

 

ต่อมา นายพาโชค พูดจา และ นายจันดี เห็มรัตน์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เป็นตัวอย่างที่มีผล (P. Puudjaa & C. Hemrat 1530) ต่อมา ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ และคณะ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณใกล้แปลงตัวอย่างถาวรศึกษานิเวศวิทยาระยะยาวเขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นตัวอย่างที่มีผล (V. Chamchumroon, N. Suphuntee, S. Sirimongkol & J. S. Strijk 5217)

 

ต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นายณัฐนนท์ มีพรหม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธีร์ ดวงใจ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณใกล้แปลงตัวอย่างถาวรศึกษานิเวศวิทยาระยะยาวเขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นตัวอย่างที่มีผล (ตัวอย่างหาย แต่มีภาพถ่าย) ต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นายณัฐนนท์ มีพรหม นางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์ และนางสาวปวีณา เวสภักตร์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 เป็นตัวอย่างที่มีผล (C. Ngernsaengsaruay, N. Meeprom, P. Wessapak & W. Boonthasak G25-17032018)

 

หลังจากนั้นรองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นายณัฐนนท์ มีพรหม นางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์  นายจรรยา เจริญรัตตวงค์ และนายปรีชา พุทธรักษ์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นตัวอย่างที่มี ดอกเพศเมียและผล (C. Ngernsaengsaruay, N. Meeprom, W. Boonthasak, J. Jarernrattawong & P. Puttarak G26-18022022) 

 

ต่อมารองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์ นายประพจน์ สัตถาภรณ์นายจรรยา เจริญรัตตวงค์ และนายปรีชา พุทธรักษ์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นตัวอย่างที่มีดอกเพศเมียและผล (C. Ngernsaengsaruay, W. Boonthasak, P. Sutthaporn, J. Jarernrattawong & P. Puttarak G30-08032022) โดยนายปรีชา พุทธรักษ์ และ นายอรุณ สินบำรุง นำต้นจากป่าธรรมชาติมาปลูกไว้ในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง

 

เมื่อผู้วิจัยได้ตรวจสอบโดยละเอียด พบว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงได้เขียนบรรยายโดยละเอียด ประกอบด้วย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดที่ใกล้เคียง เขตการกระจายพันธุ์ ตัวอย่างพรรณไม้ที่ใช้ศึกษา ถิ่นที่อยู่ สถานภาพการอนุรักษ์ ช่วงเวลาออกดอกและเป็นผล ที่มาของชื่อ ชื่อพื้นเมือง และการใช้ประโยชน์ โดยกำหนดให้ตัวอย่าง C. Ngernsaengsaruay, N. Meeprom, W. Boonthasak, 
J. Jarernrattawong & P. Puttarak G26-18022022 เป็นตัวอย่างต้นแบบแรก (holotype) และตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบแรก (isotype)