ทุนจีนสีเทา : เจาะลึกสัญชาติไทย “ตู้ห่าว” ก่อน “อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ลงนาม

30 พ.ย. 2565 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 16:47 น.
2.5 k

เจาะลึกสัญชาติไทย “ตู้ห่าว” ถูกโยงทุนจีนสีเทา ก่อนหน้าที่ “อนุพงษ์ เผ่าจินดา” จะลงนามสัญชาติไทยให้ กับข้อครหาของสังคม

ประเด็นร้อนที่สังคมต่างจับตาในขณะนี้ คือ การได้มาซึ่งสัญชาติของ "ตู้ห่าว" ชื่อไทยว่า “ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์” นักธุรกิจเชื้อชาติจีน ที่ถูกโยง "ทุนจีนสีเทา" ถูกตำรวจบุกจับกุมจากการขยายผลกวาดล้างกลุ่มนายทุนจีนและนอมินีในไทยที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย เเละศาลไม่ให้ประกันตัว

 

ชื่อของตู้ห่าวถือได้ว่าว่า เป็น 1 ใน 5 เสือ ของกลุ่มนักธุรกิจท่องเที่ยวจีนในไทยและเคยถูกตรวจสอบกรณี ใครอยู่เบื้องหลัง "ผับศูนย์เหรียญ" ด้วย 

การได้มาซึ่งสัฐชาติไทยของตู้ห่าว เป็นปมร้อนเเละถูกตั้งข้อสังเกตว่ารัฐหนุนหลังหรือไม่ จากการที่มีการนำเสนอประเด็น ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 245 ง ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ระบุชื่อบุคคลลำดับที่ 35 นายหาว เจ๋อ ตู้ เอกสารหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 ของ นายหาวเจ๋อ ตู้ และปรากฏข้อความระบุว่า “อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือ ผู้ที่ให้สัญชาติไทยแก่ ตู้ห่าว” 

ฝั่งนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาชี้แจงว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้ลงนามอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่ “ตู้ห่าว” จริง แต่เป็นไปตามขั้นตอน เพราะมีการเสนอชื่อและมีการอนุมัติมาก่อนหน้านี้

 

หากย้อนดูไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นจะพบว่า วันที่ 3 สิงหาคม 2554 ตู้ห่าว ซึ่งเดิมมีสัญชาติจีน ชื่อของเขาอยู่ในทะเบียนบ้านพื้นที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย กับกองบัญชาการตำรวจสันติบาล  ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กรณีเป็นสามีของบุคคลสัญชาติไทย

 

วันที่ 22 เมษายน 2556 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานและคุณสมบัติของผู้ยื่น จากนั้นนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การขอถือสัญชาติไทยตามสามี และการขอกลับคืนสัญชาติไทย ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 นายสถาพร ศิริภักดี รองอธิบดีกรมการปกครอง ระหว่างปี 2556 เป็นประธาน 

 

ครั้งนั้น มีรองอธิบดีกรมการปกครองเป็นประธาน ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกรมการกงสุล ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอนุกรรมการ

 

วันที่ 18 มิถุนายน 2556 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2555-30 ก.ย. 2558 เป็นประธาน  เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2556 มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย

 

เพื่อเสนอแนะและให้ความเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้ใช้ดุลพินิจตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ พิจารณาอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ทำพิธีปฏิญาณตน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

อย่างไรก็ตาม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ระหว่างวันที่ 27 ต.ค. 2555-22 พ.ค. 2557 เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย