สปสช. จัดเครือข่ายปฐมภูมิ รองรับผู้ได้รับผลกระทบยกเลิกสัญญา 9 โรงพยาบาล

04 ต.ค. 2565 | 20:32 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 04:02 น.

ศอฉ.กทม. ติดตามกรณี สปสช. ยกเลิกบัตรทอง 9 โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม. พร้อมดึงร้านยาเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้นสำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทองช่วงเปลี่ยนผ่าน

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่ากรณี สปสช. ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 9 แห่งในพื้นที่ กทม. นั้น จะใช้ ศอฉ.กทม. ในการติดตามสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีหน่วยงานทางการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งเป็นคณะกรรมการรวมอยู่ด้วย โดยใช้องคาพยพนี้ในการดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเดือน ต.ค. – ธ.ค. 65 ซึ่งเป็น 3 เดือนที่ระบบของ กทม. จะมีระบบการให้บริการรองรับเพิ่มขึ้น และสามารถเชื่อมโยงรวมทั้งบริหารจัดการได้ต่อเนื่อง

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ สปสช. ได้นำร้านยาที่ร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของ สปสช. ซึ่งจะให้บริการมากกว่าร้านขายยาทั่วไป โดยจะมีบริการการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม บริการยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น (Common illness) สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและเป็นโรคที่พบบ่อยในร้านขายยา

ผู้ป่วยจะได้รับยาตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการของสภาเภสัชกรรม โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล และครอบคลุมถึงการแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงบริการทางการแพทย์ของ กทม.เข้าด้วยกัน


แนวทางการจัดการเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ เพื่อเตรียมการรองรับผู้ได้รับผลกระทบกรณีการยกเลิกสัญญาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 โรงพยาบาล ปัจจุบัน สปสช.มีหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่น 3 แห่ง โดย สปสช. และสำนักอนามัยร่วมจัดทำบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการให้ประชากรสิทธิว่างเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งประชาชนสามารถเริ่มลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

ผ่านช่องทาง ดังนี้ 1. เว็บไซต์ของ สปสช. โดยสามารถสแกน QR code เพื่อดูเครือข่ายหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ใกล้บ้าน 2. Call center 1330 และ 3. ลงทะเบียนเชิงรุกไปยังโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเครือข่ายหน่วยบริการรับส่งต่อทดแทนให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ ทั้งนี้ สปสช. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

 

พร้อมกันนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ กทม. กรณีกลุ่มเปราะบางที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้ผู้อำนวยการเขตมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนและให้คำแนะนำกลุ่มเปราะบางในการออกนอกพื้นที่หรือไปยังศูนย์พักพิง โดยประสานสำนักอนามัยจัดให้มีทีมเชิงรุกนำยาเบื้องต้นไปให้ รวมถึงการรับส่งไปยังศูนย์พักพิง และขอให้ติดตามสถานการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด