จูนเหยา ลุย เอสยูวี-ปิกอัพไฟฟ้า REEV ตั้งโรงงาน จ.สุพรรณบุรี หวังขึ้นท็อป 5

20 ธ.ค. 2567 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 16:07 น.

ค่ายจีน “จูนเหยา” ตั้งเป้าติดท็อป 5 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย ภายใน 5 ปี ประเดิมนำเข้า Joneyao Air หวังขาย 3,000 คันต่อปี เริ่มส่งมอบเดือนมกราคม 2568 เตรียมเสริมทัพ บี-เอสยูวี ปิกอัพ และซี-เอสยูวี ทั้งแบบ EV และ REEV เจรจา“สกุลฎ์ซี” ตั้งโรงงานที่ จ.สุพรรณบุรี ก่อนเดินสายผลิตต้นปี 2569

บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทลูกของ จูนเหยา กรุ๊ป ทุนใหญ่จากจีนที่ทำธุรกิจสายการบิน การเงิน โรงเรียน รวมถึงสินค้าเพื่อการบริโภค เช่น โพรไบโอติกส์ และเพิ่งเข้าไปซื้อกิจการของ Judo ค่าย EV ในปี 2565 เพื่อขยายไลน์ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

 

จูนเหยา ออโต ประเทศไทย จดทะเบียนบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ด้วยทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท มี นายจาง ไห่โป เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นอดีตลูกหม้อของ SAIC และได้มาเป็นผู้บริหารใหญ่ของ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

จูนเหยา ลุย เอสยูวี-ปิกอัพไฟฟ้า REEV ตั้งโรงงาน จ.สุพรรณบุรี หวังขึ้นท็อป 5

จูนเหยา จัดงานเปิดตัวธุรกิจ พร้อมแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นแรกในไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา กับ  Joneyao Air มีให้เลือก 2 รุ่น Standard ราคา 759,000 บาท และรุ่น Plus ราคา 869,000 บาท โดยได้ยอดจองในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 ไป 63 คัน

 

สำหรับ Joneyao Air เข้าโครงการ EV3.5 ของภาครัฐ รับเงินสนับสนุน 1 แสนบาทต่อคัน โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 3,000 คันต่อปี ซึ่งรถจะนำเข้ามาจากจีนแล้วส่งมอบให้ลูกค้าชาวไทย ปลายเดือนมกราคม 2568

 

ส่วนแผนตั้งโรงงานผลิตจูนเหยา ปัจจุบันกำลังเจรจากับ สกุลฎ์ซี พันธมิตรชาวไทย เพื่อตั้งโรงงานที่ จ.สุพรรณบุรี ในปี 2568 ก่อนจะเริ่มเดินสายการผลิตต้นปีถัดไป

 

นอกจากการประกอบ JY AIR รถ EV สไตล์ฟาสต์แบ็กแล้ว จูนเหยา ยังมีแผนเพิ่มไลน์อัพรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในปีหน้า กับ บี-เอสยูวี พลังงานไฟฟ้า 100%  จากนั้นปี 2569 เตรียมเปิดตัวปิกอัพไฟฟ้า และ ซี-เอสยูวี ที่มีขุมพลัง EREV หรือ EV แบบขยายระยะทางวิ่งมาเป็นตัวเลือกด้วย

นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมองการทำธุรกิจในไทยแบบระยะยาว โดยช่วงแรกต้องเน้นสร้างการรับรู้ เปิดประสบการณ์ลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ส่วนยอดจองที่ได้ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 ถือว่าน่าพอใจ เพราะบริษัทมีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย

 

“การทำตลาดในไทยไม่ได้มาเล่นๆ แผนธุรกิจของเราเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ได้มาแข่งวิ่ง 100 เมตร ที่สำคัญยังมาพร้อมสายการบินจูนเหยา แอร์ไลน์ ดังนั้น หากทำธุรกิจรถยนต์ไม่ดี ก็จะส่งผลถึงชื่อเสียงของสายการบินด้วย”

จูนเหยา ลุย เอสยูวี-ปิกอัพไฟฟ้า REEV ตั้งโรงงาน จ.สุพรรณบุรี หวังขึ้นท็อป 5 จูนเหยา ลุย เอสยูวี-ปิกอัพไฟฟ้า REEV ตั้งโรงงาน จ.สุพรรณบุรี หวังขึ้นท็อป 5

จูนเหยา พยายามสร้างประสบการณ์ที่ได้ให้กับลูกค้า ทั้งคุณภาพของโปรดักต์ การบริการ และการบริการหลังการขาย โดยไม่ลงไปแข่งขันในสงครามราคา เพราะสิทธิประโยชน์ที่ให้กับลูกค้า Joneyao Air ก็มากกว่า 3 แสนบาทต่อคันแล้ว

 

ทั้งตั๋วเครื่องบินจูนเหยา แอร์ไลน์ แบบไม่ระบุปลายทาง 4 ที่นั่งต่อปี ติดต่อกัน 3 ปี ทั้งหมด 12 ที่นั่ง บัตรสมาชิก Gold Membership ของจูนเหยา แอร์ไลน์ นาน 3 ปี  แถมฟรีโฮมชาร์จเจอร์ พร้อมรับประกันรถยนต์-มอเตอร์ไฟฟ้า 8 ปี หรือ 1.5 แสนกิโลเมตร และรับประกันแบตเตอรีไฟฟ้า 8 ปี หรือ 8 แสนกิโลเมตร

 

ด้านแผนตั้งฐานการผลิตในไทย บริษัทกำลังเจรากับกลุ่ม “สกุลฎ์ซี” เพื่อเปิดโรงงานจูนเหยา ที่ จ.สุพรรณบุรี คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ โดยวางกำลังการผลิตไว้ 2 หมื่นคันต่อปี รองรับตลาดไทย และส่งออกไปยังประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาอย่าง อังกฤษ ออสเตรเลีย และภูมิภาคอาเซียน

 

“นอกจากการตั้งโรงงานผลิตจูนเหยาแล้ว เราจะสร้างเครือข่ายดีลเลอร์ พร้อมผนึกพันธมิตรองค์กรการศึกษาเพื่ออบรม พัฒนา สร้างบุคลากร ส่วนโชว์รูม-ศูนย์บริการจะมีครบ 30 ในปี 2568 โดยจูนเหยา ตั้งเป้าหมายติดหนึ่งใน 5 ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย ภายใน 5 ปี” นายจาง ไห่โป กล่าวสรุป