รัฐบาล เอื้อ EV จีน ยืดเส้นตายผลิตรถในประเทศชดเชย ป้องกันสงครามราคา

04 ธ.ค. 2567 | 16:13 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 16:33 น.

รัฐบาลไทย หวั่นซัพพลายรถยนต์ไฟฟ้า EV ล้นตลาด และเกิดสงครามราคา ตัดสินใจขยายเวลาในการผลิตให้ค่ายรถที่เข้าโครงการ EV 3 ที่เดิมต้องจบภายในปี 2568 ให้สามารถขยับเลยไปได้ ภายใต้มาตรการ EV3.5 แต่จะไม่ได้รับเงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตครบจำนวนตามโครงการเฟสแรก

ตามกรอบโครงการ EV 3 ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน แลกกับเงื่อนไขว่า ใครที่นำเข้ารถมาจากจีนเพื่อใช้สิทธิ์นี้ก่อน ต้องมีแผนผลิตในประเทศชดเชยการนำเข้าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดย EV 3ค่ายรถที่เริ่มผลิตคืนในปี 2567 จะต้องทำชดเชยในอัตราส่วน 1:1 คัน แต่ถ้าเริ่มในปี 2568 จะต้องผลิตคืน 1.5 คัน หากนำเข้ามา 1 คัน

 

อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์จีน 8 รายใหญ่ เคยยื่นเรื่องขอผ่อนผันการผลิตตามเงื่อนไขนี้ โดยอ้างว่า จากสภาพเศรษฐกิจ และตลาดรถยนต์ที่ร่วงหนัก การผลิตให้ได้จำนวนที่เคยนำเข้ามาก่อนหน้านี้ อาจจะเป็นเรื่องยาก และหากทุกค่ายต้องผลิต EV ออกมาเยอะๆ ซัพพลายมีมากกว่าความต้องการ สุดท้ายคงหนีไม่พื้นการทำสงครามราคา หรือต้องมีโปรโมชันลดราคาอยู่ดี

รัฐบาล เอื้อ EV จีน ยืดเส้นตายผลิตรถในประเทศชดเชย ป้องกันสงครามราคา

ปัจจุบัน 8 ค่ายใหญ่ BYD, Neta, MG, Great Wall Motor, และ GAC AION มีโรงงานผลิต EV ในไทยแล้ว ส่วน OMODA & JAECOO ของเชอรี่ และ CHANGAN จะพร้อมต้นปี 2568

 

วันนี้ (4 ธ.ค.) บอร์ดอีวี ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการ ขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3.0โดยให้ สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน 

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) บอร์ดอีวี ได้พิจารณาเรื่องการขยายเวลาการผลิตชดเชยตาม มาตรการ EV3 ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้พิจารณาขยายเวลาเงื่อนไขการผลิตชดเชยสำหรับ ผู้ผลิตที่ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรการ EV3

 

ซึ่งเดิมกำหนดว่าต้องผลิตให้ครบถ้วนตามสัญญาภายในปี 2567-2568 เนื่องจากยอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว จากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อย สินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

รัฐบาล เอื้อ EV จีน ยืดเส้นตายผลิตรถในประเทศชดเชย ป้องกันสงครามราคา

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดอีวี ได้หารือข้อเสนอดังกล่าว โดยพิจารณาสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในปัจจุบันที่อาจมี ความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจนำไฃปสู่สงครามราคาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

 

ดังนั้นบอร์ดอีวี จึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV3 ที่เดิมกำหนดให้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อขดเขยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 1.5 เท่า ภายในปี 2568

โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชย ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2570) 

 

ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการขยายเวลาข้างต้นจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าในส่วนที่นำเข้าหรือผลิต ภายใต้มาตรการ EV3.5 ก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกัน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบตามจำนวนที่ได้รับสิทธิ ขยายเวลา และอนุญาตให้นำรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่นำเข้าภายใต้ EV3 ที่ยังไม่จำหน่าย ส่งออกไปต่างประเทศ โดยไม่นับเป็นยอดที่ผลิตชดเชย