ส่องยอดขายรถ 10 อันดับแรก ม.ค.-ต.ค.67 เช็คเลยยี่ห้อไหนแบรนด์ใดครองอันดับ 1

02 ธ.ค. 2567 | 16:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2567 | 17:18 น.
1.7 k

เจาะยอดขายรถใหม่ 10 เดือนแรกมกราคม -ตุลาคม 2567 เช็คเลยแบรนด์ใด ยี่ห้อไหนขายดีสุด พร้อมสำรวจอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 67 จะถึงเป้าหรือไม่

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานตัวเลขยอดขายรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม -ตุลาคม 2567 พบว่ามีปริมาณ 476,350 คัน ลดลง 26.2% เฉพาะเดือนตุลาคม 2567 ตลาดรวมทำยอดขายได้  37,691 คัน ลดลง 36.1%  โดยเซกเมนต์รถยนต์นั่ง มียอดขาย 15,559 คัน ลดลง 29.7% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ยอดขาย 22,132 คัน ลดลง 39.9% และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขาย 13,347 คัน ลดลง 42% 

 

แบรนด์รถยนต์ขายดี 10 อันดับแรกในไทย มกราคม -ตุลาคม 2567

 

ในส่วนของตลาด xEV หรือ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า มียอดขายทั้งหมด 12,243 คัน ลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 32% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด โดยรถยนต์ HEV ทำยอดขายได้ 7,300 คัน ลดลง 21% ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 4,130 คัน ลดลง 47%

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ยอดขายรถยนต์หดตัวเป็นผลมาจาก สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนพฤศจิกายน แนวโน้มยอดขายจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม เนื่องจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง รวมถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และโปรโมชันในงาน Motor Expo 2024 ที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงปลายปี
 

โตโยต้า เสนอ 3 ข้อวอนรัฐช่วยเหลืออุตฯยานยนต์ไทย 

นาย โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 67 จะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 600,000 คัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำมากเพราะต้องย้อนไปถึงปี 2552 หรือ14-15 ปีก่อนที่ไทยเคยขายได้เพียงเท่านี้ 

 

อย่างไรก็ตามด้วยเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น GDP ในไตรมาสที่ 3 มีการขยายตัว 3% และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ทำให้คาดว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

 

นาย ยามาชิตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตฯที่มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 10 % ในส่วนของโตโยต้าจึงหวังให้รัฐบาลมีมาตรการที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบากนี้ต่อไปด้วย โดยสิ่งที่โตโยต้าต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมี 3 เรื่องด้วยกันดังนี้

 

  1. ต้องการให้รัฐบาลมีแผนระยะกลางและระยะยาวที่ตอบรับความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการสนับสนุนการผลิตรถยนต์กลุ่มที่มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างสูง นั่นคือ รถปิกอัพ รถ PPV และรถอีโคคาร์
  2. การออกมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมในระยะสั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังประสบความยากลำบาก
  3. การสนับสนุนให้มีตัวเลือกยานยนต์ขับขี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่ BEV แต่ให้ครอบคลุมถึง FCEV, PHEV, HEV และรถยนต์ใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นาย โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

ส.อ.ท.ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 67

ยอดขายรถใหม่ที่ร่วงลงต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ประกาศปรับเป้าหมายใหม่ของปี 2567 ซึ่งมีการปรับทั้งยอดส่งออก และ ยอดขายในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2567 ล่าสุด 1,500,000 คัน เดิม 1,700,000 คัน

  • ผลิตขายในประเทศ 450,000 คัน เป้าเดิม 550,000 คัน 
  • ผลิตเพื่อส่งออกลดลง 1,050,000 คัน เป้าเดิม 1,150,000 คัน 

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในเดือนตุลาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 54 เดือนนับตั้งแต่ยกเลิกล็อคดาวน์โควิด-19 เดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อยอดขายรถในประเทศที่ลดลงเป็นผลมาจากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินเป็นหลัก

 

"ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงเป็นผลมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน และแม้ว่าในช่วงปลายเดือนพ.ย.-ธ.ค.67 จะมีงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้น แต่ก็มองว่าสถาบันการเงินจะยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่ดี เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้เสียยังสูงอยู่ ดังนั้นจึงประเมินว่าในปีนี้ เป้ายอดขายที่เคยประกาศไว้ว่าจะทำได้ 550,000 คัน ก็ลดลงเป็น 450,000 คัน"

 

ส.อ.ท.ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ -ยอดขาย -ยอดส่งออกปี 67

 

ขณะที่ตลาดส่งออก ที่ต้องมีการปรับเป้าหมายใหม่นั้น เนื่องจากสงครามอิสราเอล ฮามาส ที่ต้องจับตาดูว่าจะขยายวงกว้างมากขึ้นหรือไม่ เพราะหากลุกลามก็จะกระทบกับตลาดในตะวันออกกลางและยุโรป นอกจากนั้นแล้วความขัดแย้งที่ต้องติดตามว่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกคือสงครามยูเครนกับรัสเซียที่อาจขยายไปประเทศอื่นซึ่งกระทบการส่งออกรถยนต์และสินค้าอื่นๆดังนั้นจึงต้องปรับเป้าหมายใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะส่งออก 1,150,000 คัน ก็ปรับลดลงมาเหลือ 1,050,000 คัน